ปัจจุบันโรคหลอดเลือดหัวใจถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้น การรักษาประกอบไปด้วยการรักษาผ่านสายสวน (PCI) หรือการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือด (Bypass) ข้อดีของการรักษาผ่านสายสวน คือระยะการฟื้นตัวหลังการแก้ไขจะรวดเร็วกว่าการทำผ่าตัด
นพ.วิชัย จิรโรจน์อังกูร อายุรแพทย์หัวใจ รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เกิดจากการที่มีคราบไขมัน (Plaque) เกิดขึ้นในผนังหลอดเลือด ส่งผลทำให้การไหลเวียนเลือดภายในเส้นเลือดลดลงจนเป็นผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนเกิดอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกกำลังหรือมีอาการเหนื่อยง่ายขึ้น การรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบผ่านสายสวน (PCI) เป็นการรักษาเส้นเลือดตีบโดยไม่ต้องอาศัยการผ่าตัด กระบวนการรักษาประกอบไปด้วยการเจาะเส้นเลือดที่ข้อมือหรือเส้นเลือดที่บริเวณขาหนีบ การใส่สายสวนผ่านเส้นเลือดแดงจากบริเวณดังกล่าวย้อนขึ้นไปเส้นเลือดแดงที่ออกจากหัวใจ แล้วทำการฉีดสารทึบแสงร่วมกับการถ่ายภาพ X-ray เพื่อดูลักษณะความผิดปกติของเส้นเลือดของหัวใจทั้งซ้ายและขวา เมื่อพบตำแหน่งที่ผิดปกติจึงทำการแก้ไขโดยการผ่านลวดนำทางและใช้สายสวนที่มีบอลลูนตามเข้าไปในตำแหน่งที่ตีบแล้วทำการขยายหลอดเลือด เมื่อเส้นเลือดขยายได้ดีแล้ว จึงสอดขดลวด (Stent) เข้าไปเพื่อเป็นโครงค้ำยันไม่ให้ผนังหลอดเลือดยุบตัว กระบวนการรักษาดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนปกติในการรักษาหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน (Simple PCI)
แต่ในบางกรณี ผนังหลอดเลือดมีหินปูนมาเกาะร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ทำให้การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนไม่สามารถทำได้ จึงต้องทำการกรอเอาหินปูนบางส่วนออกไปก่อน (Rotablator) ซึ่งถือเป็นการรักษาที่ซับซ้อน (Complex PCI) และเพิ่มความเสี่ยงในการรักษา แต่จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาด้วยสายสวนดีขึ้น ในบางกรณีเส้นเลือดมีการอุดตันโดยสิ้นเชิง การรักษาผ่านสายสวนมีโอกาสสำเร็จต่ำ แต่อุปกรณ์ที่ใช้รวมถึงเทคนิคการแก้ไขในปัจจุบันสามารถทำได้สะดวกและมีผลสำเร็จมากขึ้น โดยไม่ต้องทำการผ่าตัด ซึ่งผลหลังการรักษาที่ดี ประกอบกับการรับประทานยาสม่ำเสมอ การควบคุมปัจจัยเสี่ยง การออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยชะลอการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มีความมุ่งมั่นในการวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีความซับซ้อน เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดอุดตันเรื้อรัง เส้นเลือดตีบแบบมีหินปูนเกาะผนังหลอดเลือดจำนวนมาก โดยอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์เป็นสำคัญ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit