กอนช. ประกาศเตือนเฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง จากพายุซินลากู 24 ชม. ระบุหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมจากอิทธิพลพายุฝนเต็มกำลัง คาดปริมาณฝนจากพายุส่งผลดีช่วยเติมน้ำลงเขื่อนใหญ่ 35 แห่ง ทั่วประเทศกว่า 1,300 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลดีบรรเทาสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (3 ส.ค. 63) กอนช. ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 1/2563 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “ซินลากู” (พายุระดับ 2) โดยได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากบริเวณพื้นที่ลาดชันเชิงเขา ในบางพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน บริเวณลำน้ำลาวและลำน้ำกอน จ.เชียงราย และลำน้ำกวง จ.เชียงใหม่ รวมทั้งพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งในภาคเหนือ บริเวณแม่น้ำยม อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ แม่น้ำน่าน อ.เวียงสา อ.ท่าวังผา และอ.เมือง จ.น่าน แม่น้ำปาด อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณลำน้ำยัง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม วันนี้พายุซินลากูได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ โดยคาดการณ์ว่าอิทธิพลของพายุจะยังส่งผลให้มีโอกาสเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
“ด้วยอิทธิผลของพายุฝนทำให้หลายจังหวัดของประเทศไทยประสบกับเหตุอุทกภัยเนื่องจากฝนตกหนัก ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง โดย กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์ในแต่ละจังหวัด พบว่า มีจังหวัดที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วแต่ยังคงเฝ้าระวัง จำนวน 6 จังหวัด ประกอบด้วย จ.น่าน พะเยา เลย ลำปาง กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ส่วนอีก 3 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย ขอนแก่น และเชียงใหม่ บางพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าปฏิบัติการอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สถานการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงและจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 วัน” นายสำเริงกล่าว
นายสำเริง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม จากการที่พายุซินลากูทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเติมในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง ซึ่งเป็นผลดีในแง่ของการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ จากการติดตามตรวจวัดและคาดการณ์น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. – 6 ก.ค. 63 จะมีน้ำไหลเข้ารวมทั้งสิ้น 1,315 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ แล้ว ตั้งแต่ 31 ก.ค. – 3 ส.ค.63 รวม 390 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ ภาคเหนือ 153 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 96 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 8 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 1 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 49 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 83 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงคาดการณ์อีก 3 วันข้างหน้า ช่วงวันที่ 4 – 6 ส.ค.นี้ น้ำจะไหลเข้าอ่างฯ เพิ่มอีก 925 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ ภาคเหนือ 629 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 103 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 32 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 4 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 99 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 58 ล้าน ลบ.ม. โดยพบว่าเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากที่สุดจนถึงวันที่ 6 ส.ค. จำนวน 7 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ 512 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล 122 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนรัชชประภา 101 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ 96 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 62 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ 59 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิรินธร 53 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้จะมีฝนตกเนื่องจากได้รับอิทธิพลของพายุ แต่ปริมาณของฝนยังคงมีน้อย ดังนั้น กอนช. จะเดินหน้าติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหาทั้งท่วมและแล้งอย่างครอบคลุม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit