กระทรวงเกษตรฯ โดย สศก. เฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และในหลวงรัชกาลที่ 10 สืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ขับเคลื่อนและขยายผลโครงการแรงงานคืนถิ่น บูรณาการร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ สร้างต้นแบบการพัฒนาคุณชีวิตด้วยศาสตร์พระราชา เสริมภูมิคุ้มกันชีวิตสู้วิกฤติยุค New Normal
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการโครงการแรงงานคืนถิ่นพลิกฟื้นผืนดิน ด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศพก. อ. บ้านผือ จ.อุดรธานี ว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย สศก. ดำเนินการจัดทำโครงการแรงงานคืนถิ่นฯ ภายใต้โครงการ พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจการเกษตรอาสาประจำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยอบรมและสาธิตการทำการเกษตรด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือแรงงานคืนถิ่น ผู้ว่างงาน และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่ง สศก. ได้เริ่มเปิดตัวโครงการฯ ณ จังหวัด ศรีสะเกษ ในช่วงเดือนกรกฎาคม เดือนมหามงคลของปวงชนชาวไทย ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ขยายผลโครงการ และยึดแนวทาง จ.ศรีสะเกษ เป็นต้นแบบโมเดลขับเคลื่อนโครงการฯ ทั่วประเทศตลอดมา
สำหรับเดือนสิงหาคมนี้ เป็นอีกหนึ่งวาระโอกาสสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กระทรวงเกษตรฯ โดย สศก. ได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติ และขยายผลโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ณ ศพก. อ. บ้านผือ จ.อุดรธานี ซึ่งมี นายชาญชัย คำวงษา เศรษฐกิจการเกษตรอาสา และประธาน ศพก. อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพไร่นาสวนผสมระดับจังหวัด ประจำปี 2559 และ 2561 ที่ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่ครั้งนี้ร่วมกัน
พร้อมนี้ สศก. ยังได้บูรณาการร่วมกับโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ และครม. อนุมัติวงเงิน 9.8 พันล้านบาท เป็นโครงการแรก ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ถึง 4,009 ตำบลๆ ละ 16 ราย ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 - 12 และ ศกอ. กับ ศพก. ในพื้นที่ มีศักยภาพและความพร้อมเต็มที่เพื่อร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมทั้งยังบูรณาการร่วมกับศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน สถาบันการศึกษาภายใต้ศูนย์ AIC องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกลุ่มองค์กรภาคประชาชน และศูนย์ปฏิบัติการอื่นๆ ในการช่วยเหลือแรงงานคืนถิ่นร่วมกัน ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดอุดรธานี มีจำนวนเป้าหมาย 149 ตำบล
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดผลกระทบต่อเนื่องทั้งทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน การฟื้นฟูประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จำเป็นที่จะต้องดำเนินการครอบคลุมทุกมิติ และผ่านความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย แน่นอนว่าภาคการเกษตร เป็นภาคการผลิตที่สำคัญ เป็นแหล่งผลิตอาหารในประเทศและส่งออกในฐานะครัวของโลก ดังนั้น สภาวะวิกฤตเช่นนี้ ภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการช่วยแก้ไขปัญหา สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นตามแนวทางศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ อันเป็นศาสตร์ที่เป็นทางรอดของอาชีพเกษตรและเป็นความภาคภูมิใจของเกษตรกรไทยตลอดมา” เลขาธิการ สศก.
ทั้งนี้ เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 ซึ่งความสำเร็จของโครงการแรงงาน คืนถิ่นฯ ตลอดจนโครงการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในครั้งนี้ นอกจากคนรุ่นใหม่คืนถิ่นจะหันทำการเกษตรโดยเข้าใจถึงองค์ความรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชาเป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ยังก่อเกิดฐานทรัพยากรน้ำ ดิน และป่าไม้ ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดการกระจายรายได้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เกษตรกรมีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น เศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟู และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอีกด้วย