นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field day) ในทุกปี โดยแนะนำให้เกษตรกรไถเตรียมดินซึ่งช่วยกำจัดวัชพืชหรือศัตรูพืชในดินได้ การไถเตรียมดินที่ดีควรไถดินให้สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง ไถให้ลึกถึง 30 เซนติเมตร และมีการพลิกกลับดินได้อย่างสมบูรณ์ โดยการพลิกกลับดินด้วยรอยไถที่เป็นระเบียบเรียบร้อยทั่วทั้งผืนจะทำให้ดินทุกส่วนได้ตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค กำจัดวัชพืช และศัตรูพืชได้อย่างทั่วถึงทั้งแปลง พืชที่ปลูกจะเจริญเติบโตได้สม่ำเสมอ และพร้อมให้ผลผลิตได้เต็มที่
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การไถเตรียมดินครั้งแรกควรใช้ไถหัวหมู (Moldboard Plow) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำงานได้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นไถที่ออกแบบมาให้พลิกกลับดินโดยเฉพาะ เหมาะสำหรับการไถเพื่อกำจัดวัชพืช ไถตากดินฆ่าเชื้อโรค และไข่ของศัตรูพืชใต้ดิน เพิ่มความลึกของหน้าดิน จึงนิยมใช้เตรียมดินเพื่อปลูกข้าว และพืชไร่ ส่วนการไถเตรียมดินครั้งที่สอง จะเป็นการเตรียมดินเพื่อลดวัชพืชสำหรับพืชไร่ โดยจะใช้จอบหมุนแนวตั้ง (Rotary Harrow หรือ Power Harrow) ซึ่งนิยมใช้ในแถบยุโรป เป็นเครื่องมือที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาชั้นดินดานใต้รอยพรวน เหมือนจอบหมุนแบบเก่า เนื่องจากไม่มีแรงกระทำต่อดินในแนวดิ่ง ลักษณะการทำงานของจอบหมุนแนวตั้งเปรียบเสมือนการนำส้อม 2 ขา เสียบลงดินแล้วหมุนด้าม ผลที่ได้คือวัชพืชจะถูกปั่นให้ออกจากหน้าดิน เม็ดดินที่ถูกปั่นจะถูกย่อยให้เล็กลง และไม่มีแรงกระแทกให้เกิดชั้นดินดานใต้จุดที่ไถ ซึ่งดินที่ถูกย่อยมีความเหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของพืช ก้อนดินขนาดเล็กจะกระจายปิดผิวหน้าดินป้องกันการระเหยของน้ำในดินได้ดี ส่วนดินที่ละเอียดและป่นกว่าจะถูกหมุนให้จมลงไปอยู่ที่ส่วนกลางของชั้นดิน ซึ่งจะมีความชื้นสูงและเป็นจุดที่จะหยอดเมล็ด นอกจากนี้จอบหมุนแนวตั้งมีลูกกลิ้งปิดหน้าดิน (Cage Roller) หลังการพรวน ซึ่งทำหน้าที่กลิ้งทับดินที่ถูกพรวนแล้วให้มีความแน่นพอดี สำหรับการงอกของเมล็ดไม่หลวมหรือแน่นเกินไป และเป็นการปรับระดับหน้าดินให้เรียบพร้อมที่จะใช้เครื่องมือหยอดเมล็ดพันธุ์พืชในการทำงานต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชระยะสั้นในช่วงนี้ เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ทัน เนื่องจากจากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม 2563 เกษตรกรจึงควรเตรียมแผนการรับมือไว้ล่วงหน้า เกษตรกรสามารถขอความช่วยเหลือและคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit