กรมส่งเสริมการเกษตร ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประกอบการพัฒนาบุคลากร เพื่อพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 วางแนวทางการสร้างทีมเรียนรู้ ทั้งทีมพี่เลี้ยงในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร และทีมปฏิบัติการในพื้นที่ เพื่อร่วมจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบ Blended Learning ที่ผสมผสานการเรียนรู้ทั้งทางไกลและทางใกล้ เพื่อพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผสานความร่วมมือจากส่วนกลาง คือ สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 – 6 จังหวัดและอำเภอ โดยการเรียนรู้ผ่านระบบปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น Microsoft Teams, Zoom, WebEx และอื่น ๆ มีหลักสำคัญเพื่อพัฒนาทีมเรียนรู้ในการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งที่จะพัฒนาบุคลากรในทุกระดับผ่านหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ประกอบด้วย
1) หลักสูตรพัฒนาพี่เลี้ยง (Mentor) ในงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างทีมพี่เลี้ยงในพื้นที่ตามบทบาทและหน้าที่ และเป็นหลักสูตรที่พัฒนาเพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของชุมชน ซึ่งเป็นหลักในการทำงานร่วมกับชุมชนของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
2) หลักสูตรการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรแบบมีส่วนร่วม เป็นหลักสูตรที่จะปรับรูปแบบตามบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้ ทีมพี่เลี้ยงจะร่วมออกแบบกระบวนการเรียนรู้และดำเนินการในพื้นที่ ซึ่งจะพัฒนาเจ้าหน้าที่ด้วยการเรียนรู้ทางไกลผสมผสานเข้ากับการปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งหลักสูตรทั้ง 2 หลักสูตรจะมีความเชื่อมโยงกันโดยจะมีการพัฒนาบุคลากรไปพร้อม ๆ กัน ประกอบด้วยทีมพี่เลี้ยง และทีมปฏิบัติการ เพื่อสร้างทีมเรียนรู้ในพื้นที่ที่สอดคล้องกับบริบทการทำงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ที่เน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ทั้งนี้ พื้นที่ในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ในปีงบประมาณ 2563 จะดำเนินการในพื้นที่ที่ดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ปี 2563 จังหวัดละ 1 จุด เป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อขยายผลการพัฒนาในปีต่อ ๆ ไป
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบ Blended Learning จะเป็นการก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดในการพัฒนาบุคลากรในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสิ่งสำคัญ คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เกิดเป็นทีมเรียนรู้ ทึ่สามารถปรับกระบวนการให้สามารถดำเนินการต่าง ๆ ตามภารกิจได้อย่างแท้จริง ให้ได้สื่อสารสร้างความเข้าใจในการดำเนินการให้ถึงระดับพื้นที่แล้ว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit