พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ตรวจติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืชในลุ่มน้ำภาคกลาง (แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย คลองรังสิตประยูรศักดิ์) โดยรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืช ในลุ่มน้ำภาคกลาง ณ ห้องเตรียมบิน กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก พร้อมทั้งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสำรวจเส้นทางการไหลของผักตบชวา พร้อมด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำของประเทศ เป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง และได้ติดตามผลการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่ใช้เส้นทางน้ำในการคมนาคม ขนส่ง เป็นประจำ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ซึ่งจากการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมโรงเรียนวัดทรงคนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ที่มีการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำเชื่อมโยง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยใช้รายงานการสำรวจผักตบชวาของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อให้ทุกหน่วยงาน ที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาเห็นภาพปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และได้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ วันนี้จึงได้ใช้เฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสถานการณ์ผักตบชวา ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ คลองหกวา คลองสอง คลองสาม คลองรังสิตประยูรศักดิ์ และได้บินไปสำรวจในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย บริเวณประตูระบายน้ำผักไห่และแม่น้ำท่าจีน บริเวณประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่อยมาจนถึงบริเวณหน้าวัดบางช้างเหนือ จังหวัดนครปฐม จากการบินสำรวจพบว่ายังมีหลายจุดที่มีผักตบชวาสะสมอยู่ปริมาณมาก จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยเร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวาให้ทันก่อนที่น้ำเหนือจะไหลหลากลงมาในช่วงเดือนกรกฎาคม การกำจัดผักตบชวาให้สิ้นซากนั้นแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานร่วมมือกันอย่างจริงจัง ประชาชนที่อยู่ริมน้ำทุกหลังคาเรือนช่วยกันดูแลความสะอาดหน้าบ้านของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าปัญหาผักตบชวาก็จะหมดไปจากแม่น้ำ ลำคลองและเกิดความยั่งยืนต่อไป
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำหลายหลักและจุดเชื่อมต่อโดย 4 หน่วยงานมีความก้าวหน้ามากกว่า 90% ซึ่งจากนี้จะมีการเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคลองซอยที่ท้องถิ่นจะเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงพิจารณามาตรการเสริมเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เกิดผักตบชวาเติบโตได้เร็วขึ้นและเกิดความยั่งยืน อาทิ การตั้งจุดจัดเก็บถาวร กำหนดอัตราค่าจัดเก็บ เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกำจัดผักตบชวาตามระเบียบของสำนักงบประมาณ และมอบเรือท้องแบนให้กับชุมชนริมคลองเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จัดหาแล้วจำนวน 790 ลำ การใช้สารเคมีในการควบคุมการเจริญเติบโตของผักตบ โดยมีผลงานวิจัยที่ชัดเจนว่าไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำ รวมถึงควบคุมการทิ้งขยะและน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลอง เพื่อให้ผักตบชวาเข้าสู่แม่น้ำสายหลักน้อยสุด ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก ซึ่งคาดว่าจะมีฝนมากขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่จะส่งผลให้กระแสน้ำเชี่ยวและกำจัดได้ยากขึ้น โดย สทนช. จะนำเสนอ 8 มาตรการในการบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (9 มิ.ย. 63) เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการเชิงป้องกันโดยหน่วยงานราชการต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพ
ด้าน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืชของรองนายกในวันนี้ สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บผักตบชวาบริเวณวัดทรงคนอง แม่น้ำท่าจีน จังหวัดนครปฐม และตรวจติดตามผลการจัดเก็บผักตบชวา โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA สำรวจ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ซึ่งได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงานหลักดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรองนายกได้แจ้งในที่ประชุมให้มีการบินสำรวจด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ซึ่งจะทำให้มองเห็นเส้นทางและปริมาณการไหลของผักตบชวาที่สะสมอยู่ในพื้นที่ต่างๆได้อย่างชัดเจน จึงได้เชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาร่วมทำการบินสำรวจในครั้งนี้ และได้มีการถ่ายภาพเพิ่มในลุ่มน้ำภาคกลาง และภาคตะวันออก ของ GISTDA เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 พบว่ามีการสะสมของผักตบชวา จำนวน 128 จุด 19 จังหวัด สะสมเป็นจำนวนมากในแม่น้ำสายหลัก จำนวน 47 จุด ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา 2 จุด แม่น้ำน้อย 15 จุด แม่น้ำท่าจีน 23 จุด แม่น้ำปาสัก 1 จุด แม่น้ำลพบุรี 6 จุด รวมปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักทั้งสิ้น 165,360 ตัน
จากผลสำรวจข้างต้น ได้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบไว้ดังนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit