บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลการศึกษาแบบเจาะลึกเรื่องความท้าทายหลักในการปรับองค์กรสู่ยุคดิจิทัล หรือดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน รวมถึงเรื่องความจำเป็นที่องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน อาทิ ธนาคาร บริษัทประกันและบริษัทไฟแนนซ์ ต้องปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของทั้งวงการ พร้อมทั้งยังมีผู้ประกอบการทั้งหน้าใหม่และรายเดิมเข้ามา รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไป สำหรับสถาบันทางการเงินแล้ว การปรับองค์กรสู่ยุคดิจิทัลเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่แนวทางจัดการข้อมูลแบบ ดาต้า เวอร์ชวลไลเซชัน (Data Virtualization) ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นพร้อมเติมเต็มความสามารถใหม่ ๆ ในการทำงานให้องค์กร เมื่อเลือกเทคโนโลยีนี้เป็นตัวช่วย ผู้ให้บริการทางการเงินจะสามารถเข้าถึงและใช้งานข้อมูลทั้งหมดขององค์กรได้ทันที ราวกับว่าดึงข้อมูลมาจากแหล่งเดียวกัน จึงช่วยประหยัดทั้งต้นทุนและลดเวลาในการจัดการบริหารข้อมูล จุดเด่นดังกล่าวคือจุดแข็งที่จะช่วยให้องค์กรผู้ใช้งานดาต้า เวอร์ชวลไลเซชัน มีแต้มต่อทางธุรกิจและล้ำหน้าเหนือคู่แข่ง
นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่าขณะนี้เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) กำลังให้บริการด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันเพื่อคว้าแต้มต่อสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ยกระดับกระบวนการทางธุรกิจ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระดับนวัตกรรม และพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรในการดูแลลูกค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงลูกค้าในแวดวงบริการทางการเงินของไทย โดยบริการดังกล่าวเปิดทางให้ลูกค้าได้วินิจฉัยและตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ ด้วยโซลูชันที่ผสมผสานการทำงานที่เป็นเลิศ และความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคของวงการอย่างลงตัว
“จากการศึกษาเชิงคุณภาพแบบเจาะลึกของเอบีมพบว่า ความท้าทายหลักในกระบวนการนำองค์กรสู่ยุคดิจิทัลหรือดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน คือความจำเป็นที่องค์กรจะต้องปรับและพัฒนาตัวเอง เนื่องจากมีคู่แข่งเข้ามาในตลาด หรือหาทางก้าวนำบริษัทในแวดวงเดียวกันที่กำลังใช้กลยุทธ์ด้านดิจิทัลเช่นกัน ผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดที่พัฒนามากกว่า กลายเป็นผู้นำตลาด ในขณะที่ธุรกิจดั้งเดิมกลายเป็นกลุ่มล้าหลัง เพราะผู้ประกอบการรายใหม่นำความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงมาสู่วงการ ด้วยการดำเนินงานแบบที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหลัก แถมเทคโนโลยีที่ใช้ยังก้าวล้ำยิ่งกว่า จึงเพิ่มความคาดหวังของลูกค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลให้สูงขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มผู้บริหารในหัวข้อบิ๊กดาต้า (Big Data) และเอไอ (AI) โดยดิจิทัล อินชัวร์ (Digital Insurer) พบว่า 3 ใน 4 (หรือ 75%) ของบริษัทประกันหวาดกลัวการแข่งขันจากคู่แข่งทางดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล” นายฮาระ กล่าว
เนื่องจากผู้ให้บริการทางการเงินกำลังนำธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ มาใช้ และใช้เทคโนโลยีในการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้ายุคปัจจุบันคาดหวังว่าจะได้รับอยู่ตลอด อุตสาหกรรมบริการทางการเงินจึงขับเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่เสมอและเกิดบรรยากาศของการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในวงการต่างแสดงความพร้อมในการแข่งขัน บรรดาธนาคาร บริษัทประกัน บริษัทสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย และบริษัทนายหน้าต่างเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่นธนาคารไทยพาณิชย์ที่ทุ่มเงินสูงถึง 4 หมื่นล้านบาทสำหรับโครงการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันระยะ 5 ปีที่เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ส่วนธนาคารยูโอบีก็เปิดตัวธนาคารดิจิทัล “TMRW” แบบเต็มรูปแบบที่ไม่มีสาขา แต่มีผลิตภัณฑ์ระดับนวัตกรรมมานำเสนอกลุ่มลูกค้าที่เติบโตในยุคสหัสวรรษใหม่หรือชาวมิลเลนเนียม อาทิ บริการวิเคราะห์รายจ่ายและบริการงานงบประมาณ
นายฮาระเผยว่า การปรับองค์กรสู่ยุคดิจิทัลเป็นเรื่องท้าทายสำหรับสถาบันการเงิน เพราะหลายสถาบันยังพึ่งพาระบบทำงานแบบเก่าที่ใช้กันมานาน แต่มักขาดการบูรณาการกับงานด้านอื่นและไม่อาจใช้งานร่วมกับระบบปรับโฉมองค์กรให้เข้ากับยุคสมัยใหม่โดยที่ไม่ต้องหยุดให้บริการ โดยทั่วไปแล้ว สถาบันการเงินจะใช้กระบวนการดึงข้อมูลแบบ ETL (extract, transform, and load) ซึ่งต้องทำทีละกลุ่มข้อมูล โดยอาศัยการเขียนรหัสเฉพาะเพื่อสั่งการ กระบวนการนี้จึงต้องมีการเขียนรหัสคอมพิวเตอร์ใหม่ ทดลองชุดรหัสคำสั่งใหม่ ก่อนดำเนินการดึงข้อมูลใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแหล่งข้อมูล ซึ่งเทคโนโลยีดาต้า เวอร์ชวลไลเซชัน เป็นเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นกว่ามาก พร้อมส่งเสริมกระบวนการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันผ่านวิธีบูรณาการ ส่งมอบข้อมูลแบบทันสมัย เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการ ETL โดยทั่วไปแล้ว ดาต้า เวอร์ชวลไลเซชัน นั้นคล่องตัว ยืดหยุ่นและทรงพลังกว่ามาก
“เมื่อมีดาต้า เวอร์ชวลไลเซชัน เป็นตัวช่วย สถาบันการเงินจะสามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลทุกอย่างในองค์กรทันทีราวกับว่าดึงข้อมูลมาจากแหล่งเดียวกัน มิใช่การดึงข้อมูลมาจากเซิร์ฟเวอร์หลายเครื่องหรือจากแอปพลิเคชันที่ต่างกัน นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังได้ลดต้นทุนทั้งด้านต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานและด้านต้นทุนการดำเนินงาน เนื่องจากดาต้า เวอร์ชวลไลเซชัน ช่วยรวบรวมข้อมูลมาอยู่แหล่งเดียวกัน และลบข้อมูลซ้ำซ้อนทิ้ง เมื่อกำจัดข้อมูลแบบไซโล (information silo) ที่ไม่จำเป็นออกไปได้ ผู้ใช้งานข้อมูลก็สามารถประหยัดเวลาในการบริหารจัดการข้อมูลและยังได้ใช้ข้อมูลอย่างเรียลไทม์ ที่สำคัญที่สุด คือ สามารถให้บริการที่ดีกว่าเดิมแก่ลูกค้า และมีศักยภาพในการเป็นผู้พลิกโฉมในวงการธุรกิจ” นายฮาระอธิบาย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit