“นมไทย-เดนมาร์ค” ไม่หวั่นยอดขายตก พลิกวิกฤติโควิด-19 เดินหน้ารุกหนักออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง ประกาศยึดเจ้าตลาดนมพร้อมดื่ม “ยุคนิว นอร์มอล” พร้อมชูจุดขายใช้วัตถุดิบจากนมโคสด 100% ไม่ผสมนมผง โรงงานผลิตและกระจายสินค้าอยู่ในแหล่งผลิตวัตถุดิบ ระบบการผลิตได้มาตรฐานสากล สะอาด ปลอดภัยไร้ไวรัสโควิด-19แน่นอน
นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทน ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า ในวิกฤตที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อ.ส.ค. ได้มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)อย่างต่อเนื่อง หลังจากศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานโดยหันมาทำงานที่บ้านจากเดิมต้องไปทำงานที่สำนักงาน หรือไม่ต้องเดินทางถึงห้างสรรพสินค้าก็สามารถจะสั่งสินค้าอุปโภคและบริโภคมาที่บ้านได้ มีการสัมผัสน้อยลง(Touchless) และเกิดสังคมไร้เงินสด(Cashless)จึงมีแนวโน้มในการหันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นตามลำดับ
ดังนั้น เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ที่นับวันจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด อ.ส.ค. ได้เร่งศึกษากิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านระบบการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 2 ช่องคือ ลาซาด้า (LAZADA)และช้อปปี้(Shopee) เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคยุคปัจจุบันให้ครอบคลุมเป้าหมายมากขึ้น อาทิ การขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ (delivery)และช่องทางออนไลน์ใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ในอนาคตยังได้เตรียมศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ผสมผลไม้ไทยหรือสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มที่พฤติกรรมของผู้บริโภคยุควิถีชีวิตใหม่จะใส่ใจสุขภาพและความสะอาดมากขึ้น รวมทั้งเกิดการเสียสละแบ่งปันให้สังคม ทั้งบริจาคหน้ากาก แบ่งอาหารสู่ตู้ปันสุข
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วประกอบกับสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คลดลงจากที่วางเป้าหมายไว้เดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาทซึ่งอาจส่งผลต่อยอดขายภายในปี 2563 ที่วางไว้ 11,000 ล้านบาทไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น อ.ส.คในฐานะรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังผ่านคณะกรรมการบริหารอ.ส.ค.เพื่อขอทบทวนการแผนวิสาหกิจ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564)ประจำปี 2563ในส่วนของเป้าหมายรายได้และกำไรขององค์กรส่วนปริมาณเท่าไหร่อยู่ระหว่างส่งข้อมูลให้คณะกรรมการบริหารประเมินสถานการณ์ ทั้งนี้ นอกจากขอทบทวนในส่วนของรายได้และกำไรแล้ว ยังได้เสนอขอทบทวน เพื่อปรับลดขนาดโครงการและกิจกรรมประจำปีบางอย่าง เช่น โครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเดินทางไปพบปะและทำกิจกรรมร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งนี้หากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติก็จะรับนำกลับมาดำเนินการเป็นปกติเหมือนเดิมเนื่องจากเป็นโครางการที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม อ.ส.ค. ยังคงเชื่อมั่นในจุดแข็งหลายด้านของนมไทย-เดนมาร์ค อาทิ ใช้วัตถุดิบจากนมโคสด 100% ไม่ผสมนมผง ระบบการผลิตได้มาตรฐานสากลและกระจายอยู่ในแหล่งผลิตวัตถุดิบ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจึงได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เป็นจุดกำเนิดอาชีพพระราชทานที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีภาพลักษณ์เป็นองค์กรที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ของเกษตรกรบุคลากรมีคุณภาพและประสบการณ์สูงร่วมกว่า 56 ปี ทำให้สินค้าได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากผู้บริโภคมาอย่างยาวนานจะทำให้ผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คยังคงได้เปรียบในตลาดและยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด(Market Share)
นมพร้อมดื่มไว้ได้อย่างยังยืน
“สำหรับสถานการณ์อื่นๆ อาทิ การรับซื้อน้ำนมดิบของเกษตรกรนั้น อ.ส.ค.ได้ทำเอ็มโอยูรับซื้ออยู่ที่ 650ตัว/วัน แต่ปัจจุบันรับซื้ออยู่ที่ 770 ตัน/วันมากกว่าโควต้าถึง 120 ตัน/วันแม้จะส่งผลต่อการมีภาระสต๊อกที่เพิ่มขึ้นยอดขายตก แต่อ.ส.ค.ไม่มีนโยบายที่จะลดการซื้อน้ำนมดิบเกษตรกรลงอย่างแน่นอน เพราะเราต้องการช่วยเกษตรกรไม่ให้เดือดร้อนจนต้องน้ำนมดิบไปเททิ้งเหมือนในอดีต โดยราคารับซื้ออยู่ที่ประมาณ 19.30 บาท/กก.บวกลบตามคุณภาพ”นายสุชาติ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit