กสร. ร่วมกับศาลแรงงานกลางให้บริการสัญจรทั่วกรุง อำนวยความยุติธรรมแก่แรงงานที่กระทบโควิด

17 Jun 2020

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับศาลแรงงานกลางเดินหน้าโครงการ “ศาลแรงงานเคลื่อนที่” ช่วยเหลือและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนด้านแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ออกให้บริการคำปรึกษาข้อกฎหมาย ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง การรับฟ้อง ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร หวังลดภาระค่าใช้จ่าย ลดการเดินทางมาศาล และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างสะดวก รวดเร็ว โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ - 30 ก.ย. 63

กสร. ร่วมกับศาลแรงงานกลางให้บริการสัญจรทั่วกรุง อำนวยความยุติธรรมแก่แรงงานที่กระทบโควิด

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า โครงการ “ศาลแรงงานเคลื่อนที่” เป็นโครงการที่ กสร. ร่วมกับศาลแรงงานกลางจัดขึ้น เพื่อให้บริการสร้างการรับรู้และเข้าใจถึงสิทธิหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ในรูปแบบของศูนย์บริการด้านกฎหมายเคลื่อนที่ โดยจะให้บริการให้คำปรึกษา ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง การรับคำฟ้องแก่นายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ภายใต้ชื่อ “คลินิกศาลแรงงานร่วมใจ วิถีใหม่-สู้ภัย  โควิด”  เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และลดการเดินทางมายังศาลของประชาชน ซึ่งจะเปิดให้บริการครั้งแรก ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 เขตดินแดง (สรพ. 5) ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ครั้งที่ 2  วันที่ 22 มิถุนายน ณ สรพ.3 (เขตประเวศ) ครั้งที่ 3 วันที่ 3 กรกฎาคม ณ สรพ.10 (เขตมีนบุรี) ครั้งที่ 4 วันที่ 13 กรกฎาคม ณ สรพ.7 (เขตตลิ่งชัน) ครั้งที่ 5 วันที่ 3 สิงหาคม ณ สรพ.3 (เขตประเวศ) ครั้งที่ 6 วันที่ 11 สิงหาคม ณ สรพ.10 (เขตมีนบุรี) ครั้งที่ 7 วันที่ 1 กันยายน ณ สรพ.8 (เขตพระนคร) และครั้งสุดท้ายในวันที่ 15 กันยายน ณ สรพ.5 (เขตดินแดง)

อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนที่มีข้อสงสัยหรือต้องการความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน รวมทั้งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ของนายจ้าง ลูกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19  นำมาซึ่งความร่วมมือ ร่วมใจให้ผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวไปได้ด้วยดี  จึงขอเชิญชวนผู้สนใจใช้บริการ “คลินิกศาลแรงงานร่วมใจ วิถีใหม่-สู้ภัยโควิด” ได้ตามวันและสถานที่ข้างต้น ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2246 7589 หรือสายด่วน 1506 กด 3