วีซ่าผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิตอลระดับโลก เปิดเผยถึงผลการสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า1 (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ที่แสดงให้เห็นว่าแปดในสิบของชาวไทย (79 เปอร์เซ็นต์) เลือกใช้จ่ายในรูปแบบคอนแทคเลสมากขึ้นกว่าเมื่อสองปีที่ผ่านมา
ผลสำรวจฉบับนี้ ศึกษาถึงพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อการชำระเงินทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังได้แสดงให้เห็นว่าสามในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย (75 เปอร์เซ็นต์) ที่ยังไม่เคยชำระเงินในรูปแบบคอนเทคเลสในปัจจุบัน มีความสนใจที่จะเลือกใช้วิธีนี้ในอนาคต
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้เห็นคนไทยเปิดใจยอมรับเทคโนโลยีการชำระรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระเงินผ่านบัตรคอนแทคเลส การเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมที่เกิดขึ้นรวมถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภค เกิดจากที่ธุรกิจทุกภาคส่วนช่วยกันให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของประโยชน์ของการชำระเงินในรูปแบบคอนแทคเลส รวมถึงการเพิ่มจุดรับชำระบัตรคอนแทคเลส ในประเทศไทยวิธีการชำระเงินในรูปแบบคอนแทคเลสยังถือว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่เราก็ยังมองเห็นแนวโน้มการเติบโตของการชำระเงินด้วยวิธีนี้ เพราะความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และบัตรวีซ่า คอนแทคเลสยังเป็นที่ยอมรับทั่วโลก”
เหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคใช้วิธีการชำระแบบคอนแทคเลส คือ ไม่ต้องการถือเงินสด (68 เปอร์เซ็นต์) ต้องการใช้นวัตกรรมใหม่ในการชำระเงิน (58 เปอร์เซ็นต์) และเป็นวิธีการชำระที่รวดเร็วกว่าวิธีการอื่นๆ (55 เปอร์เซ็นต์)
เมื่อพูดถึงความถี่ของการชำระเงินในรูปแบบคอนแทคเลสพบว่า มากกว่าสี่ในห้าของผู้ตอบแบบสอบถาม (82 เปอร์เซ็นต์) ใช้บัตรคอนแทคเลสในการใช้จ่ายอย่างน้อยหนึ่งถึงมากกว่าสี่ครั้งต่อสัปดาห์
โดยจุดที่คนเลือกใช้จ่ายด้วยบัตรคอนแทคเลสมากที่สุด คือ ระหว่างการเดินทางในต่างประเทศ (17 เปอร์เซ็นต์) ตามมาด้วยซูเปอร์มาร์เก็ต (12 เปอร์เซ็นต์) และร้านค้าปลีกต่างๆ (11 เปอร์เซ็นต์)
ในด้านประชากรศาสตร์พบว่า กลุ่ม Gen Y (55 เปอร์เซ็นต์) เลือกใช้การชำระเงินในรูปแบบคอนแทคเลสมากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่ม Gen X (45 เปอร์เซ็นต์) ที่มีผู้ใช้ระบบการชำระแบบนี้น้อยกว่า นอกจากนี้ ประชากรกลุ่ม Gen Y เลือกชำระเงินในรูปแบบแบบคอนแทคเลสบ่อยครั้งมากกว่า โดยสามในสิบเลือกชำระเงินด้วยวิธีคอนแทคเลสมากกว่าสี่ครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่มีเพียงหนึ่งในห้าของประชากรกลุ่ม Gen X ที่เลือกการชำระด้วยวิธีนี้มากกว่าสี่ครั้งต่อสัปดาห์
การขับเคลื่อนของประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด
การสำรวจโดยวีซ่าในครั้งนี้ยังพบว่า มากกว่าสองในห้าของผู้ตอบแบบสอบถาม (43 เปอร์เซ็นต์) บอกว่าพวกเขาถือเงินสดน้อยกว่าเมื่อสองปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่าการถือเงินสดไปในที่ต่างๆ ไม่ปลอดภัย (65 เปอร์เซ็นต์) เลือกที่จะชำระเงินในรูปแบบคอนแทคเลสมากขึ้น (62 เปอร์เซ็นต์) และจุดสำหรับการเบิกถอนเงินสดหาได้ง่ายขึ้น (62 เปอร์เซ็นต์)
นอกจากนี้ มากกว่าสี่ในห้าของผู้ตอบแบบสอบถาม (82 เปอร์เซ็นต์) สามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่พึ่งเงินสดและหันมาใช้การชำระเงินในรูปแบบไร้เงินสดแทนในชีวิตประจำวัน จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามเกือบสามในสี่ (70 เปอร์เซ็นต์) ใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดมากถึงสองสามวันต่อครั้ง โดย 21 เปอร์เซ็นต์ สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่พึ่งเงินสดมากกว่าหนึ่งสัปดาห์แต่ยังน้อยกว่าหนึ่งเดือน ส่วนอีก 9 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ใช้จ่ายด้วยเงินสดได้ถึงหนึ่งเดือนหรือมากกว่า
เมื่อพูดถึงแนวโน้มที่มีต่อการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดในอนาคต เจ็ดในสิบของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย (72 เปอร์เซ็นต์) กล่าวว่า พวกเขาคาดว่าจะเลือกชำระเงินในรูปแบบไร้เงินสดเพิ่มมากขึ้นในปีหน้า ด้วยเหตุผลด้านความสะดวก (69 เปอร์เซ็นต์) ลดความยุ่งยากในการใช้จ่ายด้วยเงินสด (62 เปอร์เซ็นต์) และความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นกับวิธีการชำระเงินในรูปแบบไร้เงินสด (51 เปอร์เซ็นต์)
นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยยังมีความมั่นใจที่จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งสองในห้า (38 เปอร์เซ็นต์) เชื่อว่าพวกเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้มากกว่าหนึ่งเดือนโดยไม่พึ่งพาการใช้เงินสด โดยส่วนใหญ่กว่าหกในสิบของผู้ตอบแบบสอบถาม (58 เปอร์เซ็นต์) เชื่ออยู่ว่าพวกเขาสามารถอยู่โดยไม่ชำระเงินผ่านเงินสดได้เพียง 24 ชั่วโมง
หากถามว่าเมื่อไรที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด 40 เปอร์เซนต์ ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าน่าจะใช้เวลาระหว่างสองถึงห้าปี 27 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าอาจจะใช้เวลาประมาณหกถึงสิบปี และที่น่าสนใจคือ 7 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดภายในปีหน้า
กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการพัฒนาสู่สังคมไร้เงินสด คือ ความสะดวกสบาย (58 เปอร์เซ็นต์) เพิ่มความสามารถในการวางแผนทางการเงิน (56 เปอร์เซ็นต์) การลดความเสี่ยงจากการโจรกรรม (55 เปอร์เซ็นต์) และการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (44 เปอร์เซ็นต์)
“เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีด้านการชำระเงินเป็นตัวแปรสำคัญอันดับต้นๆ ที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือการเข้าถึงและการทำความเข้าใจด้านความต้องการในปัจจุบัน และคาดการณ์ถึงความต้องการในอนาคตของผู้บริโภคชาวไทย เราหวังว่าการศึกษาด้านทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี ของวีซ่า ซึ่งได้ทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าและพันธมิตรของเรา และในขณะเดียวกันก็หว้งว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกำหนดมาตรการและกลไกต่างๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อประชาชน ธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ และเป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายสุริพงษ์ กล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit