นักศึกษา ป.โท สถาบันวิจัยภาษาฯ ม.มหิดล วิจัยส่งเสริมวัฒนธรรม สร้างสรรค์การเรียนภาษาอังกฤษผ่านละครพื้นบ้านโคราช ได้เสนอผลงานในระดับนานาชาติ

24 Jun 2020

เมื่อเร็วๆ นี้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดกรองรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น เพื่อนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า (Oral Presentation) โดยผลงานวิทยานิพนธ์ เรื่อง “การใช้ละครพื้นบ้านอีสานเพื่อลดความกังวลในชั้นเรียนภาษาอังกฤษของผู้เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา” ของ นางสาวพัชราภรณ์ อินภู่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการสื่อสารและการพัฒนา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผลงานที่เคยได้รับการตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus และเสนอผลงานในระดับนานาชาติ จะร่วมเสนอผลงานผ่านระบบออนไลน์ ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 นี้

นักศึกษา ป.โท สถาบันวิจัยภาษาฯ ม.มหิดล วิจัยส่งเสริมวัฒนธรรม สร้างสรรค์การเรียนภาษาอังกฤษผ่านละครพื้นบ้านโคราช ได้เสนอผลงานในระดับนานาชาติ

รองศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท น้อมเนียน รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและบริการวิชาการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาหลักว่า ในทุกครั้งที่เรามีการสื่อสาร จะสะท้อนอัตลักษณ์ของตัวผู้พูดผ่านภาษาที่มีวัฒนธรรมแฝงอยู่ เพื่อบ่งบอกว่าเราเป็นใครมาจากไหน เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการทำวิจัยเพื่อให้เราสามารถใช้วิธีการสื่อสารหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เน้นการศึกษาและวิจัยภาษาควบคู่กับวัฒนธรรม ซึ่งเป็นไปอย่างกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน โดยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ผู้ใช้ภาษาสามารถเข้าใจวัฒนธรรม แล้วก็สามารถที่จะสื่อสารถึงผู้อื่นได้ ตลอดจนมีความเข้าใจถึงเบื้องหลังทางสังคมวัฒนธรรมที่อยู่ภายใต้ตัวภาษาได้ในขณะเดียวกัน

“แสงไฟที่ปลายอุโมงค์” ในภาวะวิกฤติ คือ การมีทุนทางสังคมที่ดี ประเทศไทยเรามีทุนทางวัฒนธรรมที่ดีที่จำเป็นต้องร่วมด้วยช่วยกันส่งเสริมในช่วงชีวิตปกติวิถีใหม่ (New Normal) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท น้อมเนียน ได้กล่าวถึงผลงานวิทยานิพนธ์ของ นางสาวพัชราภรณ์ อินภู่ ว่าเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของสถาบันฯ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก โดยถือเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยผ่านการสร้างสรรค์ละครพื้นบ้านในชั้นเรียนภาษาอังกฤษ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผลงานของ นางสาวพัชราภรณ์ อินภู่ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยด้านการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Scopus ที่สามารถอ้างอิงได้ในระดับโลก

นอกจากนี้ นางสาวพัชราภรณ์ อินภู่ ยังเป็นนักศึกษาต่างชาติเพียงคนเดียวในประเทศสาธารณรัฐโครเอเชีย ที่ได้รับคัดเลือกให้ไปร่วมเสนอผลงาน The 3rd International Art and Science Symposium ที่จัดโดย Faculty of Teacher Education, University of Zagreb เมื่อวันที่ 29 – 31 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา

นางสาวพัชราภรณ์ อินภู่ เล่าว่า ตนเป็นคนโคราชที่มีความตั้งใจจะริเริ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรมของบ้านเกิดตัวเอง จึงได้ทดลองนำละครพื้นบ้านของโคราชมาจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จากการศึกษาพบว่ามีงานวิจัยที่ได้รับรองจากองค์การยูเนสโก จากตำนานเก่าแก่ของโคราช เรื่อง “ท้าวปาจิตกับนางอรพิม” ที่พิสูจน์แล้วว่ามีการเชื่อมโยงถึงพื้นที่ที่มีอยู่จริง จากเส้นทางในจังหวัดนครราชสีมา ถึง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศกัมพูชา ตนจึงได้เลือกนำตำนานดังกล่าวมาจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนภาษาอังกฤษ

โดยใช้ระยะในการจัดการเรียนการสอน 1 ภาคเรียน ที่ให้ผู้เรียนทุกคนในชั้นเรียนได้มีส่วนร่วม 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีการทำบันทึกกิจกรรมในการเข้าร่วมผู้เรียน และบันทึกการจัดการเรียนการสอนของผู้สอน และมีการวัดและประเมินผล โดยใช้เทคนิคและศาสตร์การสอนจาก Drama Education ที่เป็นการการดึงตัวตนของผู้เรียนออกมาผ่านกิจกรรมการเรียนการสอน และการแสดงละคร ในบริบทพื้นบ้านอีสาน พบว่าผู้เรียนมีความกังวลในการพูดภาษาอังกฤษลดน้อยลง และมีความมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น ทั้งยังได้รับความทางด้านประวัติศาสตร์ ตำนานในท้องถิ่น และเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษจากการสร้างสรรค์บทละครอีกด้วย

นอกจากนี้ ในละครพื้นบ้าน “ท้าวปาจิตกับนางอรพิม” ยังบอกที่มาที่ไปของชื่อแต่ละอำเภอไว้ด้วย อย่างเช่น อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ทำไมถึงชื่อนี้ เพราะในตำนานกล่าวไว้ว่า ท้าวปาจิตได้โยนสินสอดทองหมั้นลงไปในลำน้ำ เนื่องจากโกรธจัดที่ท้าวพรหมทัตชิงตัวนางอรพิมไป หลังจากนั้นจึงเรียกพื้นที่ตรงนั้นกันว่า “ลำปลายมาศ” และกลายเป็นชื่ออำเภอในปัจจุบัน ชื่อของอำเภอพิมาย ก็มาจากคำพูดของนางอรพิมที่ว่า “พี่มา..พี่มาแล้ว” ซึ่งงานวิจัยนี้ต่อมาได้รับการต่อยอดเผยแพร่เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในเชิงสร้างสรรค์ทาง E-learning และโซเชียลมีเดียต่างๆ อีกด้วย

นางสาวพัชราภรณ์ อินภู่ จะร่วมเสนอผลงานแบบปากเปล่า (Oral Presentation) ในกลุ่มมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ระดับปริญญาโท ในวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ระหว่างเวลา 15.00 - 16.30 น. ผ่าน Zoom ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียด และลงทะเบียนเพื่อเข้าฟังแบบออนไลน์ได้ที่ https://www.facebook.com/grad.mahidol สอบถาม email : [email protected]

HTML::image(