นครสวรรค์ขับเคลื่อนสู่ “เมืองอาหารปลอดภัย” พลิกผืนนาเคมีด้วยสารชีวภาพภูมิปัญญาชุมชน

02 Jan 2020
ภาพของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ ตัวแทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมกว่า 30 คน ต่างพร้อมใจช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าวหอมมะลิแดง "โกเมนสุรินทร์" ในแปลงนาของ สาธิตา ศิลป์อยู่ รองประธานวิสาหกิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน ต.หนองยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่ออกรวงสีม่วงกล่ำเต็มพื้นที่ 14 ไร่ เมล็ดข้าวยังอวบอิ่มมีน้ำหนัก บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่เพาะปลูกเป็นอย่างดี ภายในงาน "ร้อยเคียวเกี่ยวข้าว เกษตรก้าวไกลด้วยศาสตร์พระราชา" จัดโดย หน่วยจัดการ สสส. จ.นครสวรรค์ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จ.นครสวรรค์ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 3 นครสวรรค์ ร่วมกับ วิสหกิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน และ ทีมสร้างเสริมสุขภาพคนนครสวรรค์ เมื่อเร็วๆ นี้ กลายเป็นสิ่งยืนยันความสำเร็จ ว่า "การเกษตรแบบไร้สารเคมี" สามารถทำได้จริง แถมยังได้ผลผลิตดีแม้จะประสบปัญหาภัยแล้งอีกด้วย
นครสวรรค์ขับเคลื่อนสู่ “เมืองอาหารปลอดภัย” พลิกผืนนาเคมีด้วยสารชีวภาพภูมิปัญญาชุมชน

เดิมเกษตรกรบ้านดอนตะเคียนราว 40-50 ครัวเรือน ต้องเผชิญภัยแล้งมากว่า 7 ปี และแล้งหนักในช่วง 3 ปีให้หลัง ประกอบกับไม่มีชลประทานในพื้นที่ ส่งผลให้พืชผัก ผลไม้ โดยเฉพาะข้าวที่มีเกษตรกรปลูกมากถึงร้อยละ 80-90 ต้องยืนต้นตาย บางปีหว่านข้าวมากถึง 3 รอบแต่ก็ตายทุกรอบ ส่งผลให้ทุกครัวเรือนมีหนี้สะสมตั้งแต่ 30,000-1,000,000 บาท จากการกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบเพื่อทำเกษตรเคมี ยังกระทบไปถึงอีก 40 ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ด้วย

ด้านสุขภาพ แม้ยังไม่มีผลตรวจยืนยันว่าความเจ็บป่วยที่เริ่มก่อตัวขึ้น มาจากสารเคมีที่ใช้ทำการเกษตร แต่ก็ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ 10 ครัวเรือนเปลี่ยนแนวคิด หันไปพึ่งวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่แบบไร้สารเคมีตามรอยศาสตร์พระราชาในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยส่งแกนนำของชุมชนไปอบรมเรียนรู้ และเชิญนักวิชาการ นักวิจัย และปราชญ์ชาวบ้าน เข้ามาให้ความรู้คนในพื้นที่ตั้งแต่ปีที่ 2561

"เจี๊ยบ" สาธิตา ศิลป์อยู่ เป็นเกษตรกร 1 ใน 10 ครัวเรือนของบ้านดอนตะเคียน ที่ผันตัวเองมาทำการเกษตรแบบไร้สารเคมีตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะเชื่อมั่นว่าเกษตรทฤษฎีใหม่นี้จะสามารถปลดหนี้สิน และสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนในพื้นที่รวมถึงผู้บริโภคได้

การทำเกษตรแบบไร้สารเคมีของบ้านดอนตะเคียนนั้น สาธิตา เล่าว่า จะใช้สารชีวภาพที่ผลิตขึ้นเองในพื้นที่ โดยร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นวิทยากรเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ ร.อ.พงศักดิ์ บุตรเมือง ปราชญ์ชาวบ้านผู้คิดค้นอีแดงจากจุลินทรีย์ท้องถิ่น จนได้น้ำชีวภาพ 32 สูตร ใช้ทำการเกษตรไร้สารเคมีแบบครบวงจร และเลือกพันธุ์ข้าวที่ทนแล้ง แต่ให้ปริมาณผลผลิตและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงอย่าง ข้าวหอมมะลิแดงโกเมนสุรินทร์ ข้าวเจ้าต่างสีพันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสงบริสุทธิ์ งานวิจัยจากนักวิจัยพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าว ดร.รณชัย ช่างศรี หัวหน้ากลุ่มวิชาการ ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาปากท้อง ที่เกิดจากภัยธรรมชาติและวิกฤตสารเคมีที่เริ่มก่อตัว ข้าวหอมมะลิแดงโกเมนสุรินทร์ยังเป็นข้าวพันธุ์แท้ ที่สามารถเก็บผลผลิตไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ใช้ปลูกต่อได้อีกด้วย

นอกจากนี้ สาธิตา ได้อธิบายถึงขั้นตอนการเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวไว้ด้วยว่า ชาวบ้านจะใช้ปุ๋ยหมักผสมกับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงท้องถิ่น หรือ "อีแดง" ร่วมกับสารชีวภาพตัวอื่นที่มีอีแดงเป็นส่วนผสม เช่น ไลลา และเอ็นวัน พอข้าวอายุได้ 3 วัน จะเริ่มฉีดสารชีวภาพคลุมเลนเพื่อยับยั้งการเติบโตของวัชพืช จากนั้นจะใช้สารชีวภาพอย่างเขียวแตกกอและเขียวใบใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือนวัคซีนและยังช่วยเพิ่มธาตุอาหาร และสารชีวภาพอื่นๆ จนกระทั่งเก็บเกี่ยว

"พิธีเกี่ยวข้าวในวันนี้ นับเป็นผลสำเร็จที่ยืนยันว่าการทำการเกษตรแบบไร้สารเคมีสามารถทำได้จริง ขนาดพื้นที่ภัยแล้งอย่างบ้านดอนตะเคียนเตี้ยยังได้ผล ฝนไม่ตกติดต่อกันเกือบ 60 วัน แต่ต้นข้าวไม่ตาย ทั้งที่ปกติหากต้นข้าวงอก 15 วัน ยังไม่ได้น้ำจะระอุตายหมด และยังให้ผลผลิตดีกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้า ที่ปกติจะได้ข้าวอยู่ที่ 30-35 ถังต่อไร่ แต่ตอนนี้คาดว่าจะได้ 60-65 ถังต่อไร่ และบางแปลงอาจได้สูงถึง 80 ถังต่อไร่ ทั้งที่ใช้เมล็ดพันธุ์แค่ 5 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ที่สำคัญต้นทุนลดลงกว่าครึ่ง จึงอยากชวนให้เกษตรกรยุคใหม่ หันมาทำการเกษตรแบบไร้สารเคมีมากขึ้น เพื่อสร้างสุขภาวะให้ตัวเอง ชุมชน และสังคม" รองประธานวิสาหกิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน กล่าว

ร.อ.พงศักดิ์ บุตรเมือง วิทยากรเกษตรทฤษฎีใหม่ ชี้แจงเพิ่มเติมถึงประโยชน์ของการใช้สารอินทรีย์ในท้องถิ่นมาเกษตกรรมว่า อีแดงที่จริงคือฮอร์โมนหรือสารตั้งต้นที่ใช้บำรุงพืช ได้จากการเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์จากน้ำสะอาดในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังใช้สมุนไพรและวัสดุในท้องถิ่นในการผลิต ดังนั้น สารชีวภาพที่ได้จึงเป็นจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับการทำการเกษตรในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะ

"นอกจากผลผลิตจะดีแล้ว ต้นทุนที่ใช้ในการทำการเกษตรแบบไร้สารเคมียังถูกกว่าเกือบครึ่ง เฉลี่ยแล้วต้นทุนการทำเกษตรแบบไร้สารเคมีอยู่ที่ 2,600 บาทต่อไร่ แต่หากเป็นเกษตรเคมีจะอยู่ที่ 5,700-6,500 บาทต่อไร่ ที่สำคัญเมื่อนำไปตรวจหาสารเคมีตกค้างกับแล็ปของมหาวิทยลัยต่างๆ ก็ไม่พบสารตกค้างที่ควรระวัง แม้จะเป็นพื้นที่การเกษตรที่เคยใช้สารเคมีมาก่อนก็ตาม" วิทยากรเกษตรทฤษฎีใหม่ ยืนยันพร้อมกล่าวต่ออีกว่า เมื่อต้นทุนลด ได้ผลผลิตดี ได้ผลผลิตปลอดภัย ก็อยากให้เกษตรกรทำการเกษตรในลักษณะตัวเองพอกินแล้วจึงแบ่งปันให้ชุมชน และหากมีเหลือจึงค่อยขาย และไม่นำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ในเชิงพาณิชย์

ตอกย้ำว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ไร้สารเคมีได้ผลจริงด้วยคำยืนยันจาก สมจิตร พัฒโนทัย เกษตรกรไร่มันในพื้นที่ วัย 58 ปี ว่า ที่ผ่านมาไม่เคยปลูกมันแล้วได้ผลผลิตดีขนาดนี้ ปกติมันสำปะหลังจากการใช้ปุ๋ยใช้สารเคมี 1 ต้น ได้ผลผลิตเพียง 3-4 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันหันมาใช้สารอินทรีย์ในการเพาะปลูกในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 10 กิโลกรัมต่อต้น ทุกอย่างประจักษ์ชัดมากๆ

ไม่ต่างจาก วิเชียร ศิลป์อยู่ พ่อของ เจี๊ยบ สาธิตา เกษตรกรบ้านดอนตะเคียนวัย 70 ที่ใช้สารเคมีในการทำนามาตลอดชีวิตตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ของตัวเอง ก็หันมาใช้สารชีวภาพปลูกข้าวตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากทดลองใช้ปลูกพืชผักผลไม้ได้ผลดีไม่แห้งตายเพราะขาดน้ำ

"เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่นาข้าวขอเรายังเขียวชอุ่มแม้จะฝนจะไม่ตกเลย ต่างกับนาแปลงข้างๆ ที่เขายืนต้นตายไปแล้ว ตอนนี้ไม่ว่าจะปลูกอะไรผมไม่ใช่สารเคมีอีกเลยครับ"ด้าน ทรงวุฒิ วาสุกรี เกษตรอำเภอลาดยาว จ.นครสวรรค์ บอกว่า สิ่งที่ชาวบ้านดอนตะเคียนทำอยู่นี้คือหนทางไปสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไกลกว่าหลักการผลิตข้าวด้วยการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว (GAP) ของกรมการข้าว เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน โดยเฉพาะในกลุ่ม Young Farmer ในพื้นที่ให้มาเรียนรู้ในพื้นที่ต้นแบบ หรือแม้แต่การชวนให้เพื่อนเกษตรกรแปลงข้างๆ ให้หันมาเพาะปลูกด้วยสารชีวภาพก็เป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งภาครัฐและชุมชนไม่น้อย

ขณะที่ วิสุทธิ บุญญะโสภิต รองผู้อำนวยการ สปสช. เขต 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จ.นครสวรรค์ มีความเห็นร่วมกันให้ขับเคลื่อน จ.นครสวรรค์ ก้าวสู่การเป็นเมืองผลิตอาหารปลอดภัยตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมาจึงทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยในปี 2561 ได้ร่วมกับหน่วยจัดการ สสส. จ.นครสวรรค์ เข้าหนุนเสริม 6 พื้นที่ รวมถึงที่ชุมชนบ้านดอนตะเคียน ซึ่งจากการขับเคลื่อนงานโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ในระยะ 10 เดือน พิสูจน์ให้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้สามารถปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากการใช้สารเคมีมาสู่วิถีไร้สารเคมี โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานในการดำเนินงานได้สำเร็จ ขณะที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมภายนอก คอยหนุนเสริมเพิ่มศักยภาพด้านการวิเคราะห์และวางแผนแก้ไขปัญหา จนนำไปสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติในที่สุด

"เราหวังว่าพื้นที่บ้านดอนตะเคียน จะกลายพื้นที่ต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ ในเรื่องเกษตรปลอดภัย โดยเตรียมต่อยอดความสำเร็จนี้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัด ผ่านการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดนครสวรรค์ หน่วยงานของรัฐที่ส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย เพื่อเกษตรกรในพื้นที่ปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย อันส่งผลต่อการมีสุขภาพดีในที่สุด และการผลักดันให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ก็จะเป็นไปได้จริงในไม่ช้า" วิสุทธิ กล่าว.

HTML::image( HTML::image( HTML::image(