๑. ความไม่ประมาทเป็นหนทางสู่อมตะ
"รักษาตัวกลัวกรรมอย่าทำชั่ว จะหมองมัวหม่นไหม้ไปเมืองผี จงเริ่มทำแต่กรรมที่ดีๆ จะได้มีความสุขพ้นทุกข์ภัย" ความไม่ประมาทเป็นทางไม่เสื่อม เป็นทางไม่ตาย และเป็นไปเพื่อจิตใจที่มีความว่าง เพื่อจิตใจที่มีกำลังจะออกจากสิ่งที่ไม่ดี และสามารถจะดับไฟในใจได้ เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีที่เป็นนิสัยเคยชินได้ทั้งหมด คนที่มีความไม่ประมาทเป็นนิสัยจะสามารถแก้ปัญหาให้ชีวิตพ้นภัยได้ ซึ่งจะทำให้เข้าสู่ความเป็นอมตะแห่งชีวิตได้นั่นเอง พระเทพปฏิภาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
๒. ทำบุญอย่างง่ายทำได้ที่ใจ
การทำบุญให้ได้บุญนั้น ไม่จำเป็นต้องทำบุญด้วยทรัพย์เท่านั้น การร่วมลงแรง หรือร่วมอนุโมทนายินดีในบุญที่ผู้อื่นกระทำก็ล้วนแต่ก่อให้เกิดกุศลต่อตัวเราทั้งสิ้น "ทำบุญที่ใจ คือ การทำใจให้มีความสุข ทำใจให้ผ่องใส ไม่ให้มัวหมอง ในสัปปุริสทาน 8 หมายถึงทานของสัตบุรุษ หรือการให้อย่างสัตบุรุษ ก็มีระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อให้แล้วทำจิตผ่องใส ให้แล้วเบิกบานใจ" พระอาจารย์ไพศาล วิสาโลเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ
๓. สมบัติ 6 กอง ความจริงของชีวิต
"เราเกิดจากกองดิน หากินบนกองงาน สุขสำราญบนกองเงิน กำลังเดินไปกองฟอน ขึ้นไปนอนบนกองไฟ สุดท้ายเหลือแต่กองกระดูก" สมบัติ 6 กองทั้งหลายเหล่านี้ คือความจริงที่ก่อให้เป็นชีวิต เมื่อชีวิตเป็นเรื่องธรรมดา สุข-ทุกข์ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ความสุขที่เข้ามาอาจจะอยู่กับเราไม่นาน ดังนั้นความทุกข์ก็เช่นกัน พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร
๔. วางให้เป็นก็เย็นใจ
"นี่ก็ของกู โน่นก็ของกู ยึดมากเลยทุกข์มาก" การวางไม่เป็น ใจก็เป็นทุกข์ ยึดอะไรไว้ก็ทุกข์กับเรื่องนั้น กำมือไว้นานๆ แม้ในฝ่ามือไม่มีอะไรแต่นานไปก็เมื่อย เลื่อนเป็นความทุกข์ ถืออะไรไว้นานๆ ไม่ได้วาง แม้จะเบาแต่ถือนานเข้าก็หนัก ยึดนานๆ วางไม่เป็น ก็เย็นไม่ได้ ธรรมชาติของจิตใจก็เป็นอยู่อย่างนี้ "เหนื่อยก็พัก หนักก็วาง" พระมหาทวีป กตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดแทนวันดีจิตเจริญสุข กรุงเทพมหานคร
๕. เพิ่มมูลค่าชีวิตด้วยการคิดแบ่งปัน
การทำบุญก็เหมือนหลักเศรษฐศาสตร์ ตามกฎ 20/80 บุญส่วนที่เราทำ 80 ให้ผล 20 และส่วนที่เราทำ 20 ให้ผล 80 นั้นเกิดจากอานิสงส์ ชีวิตจะเปลี่ยนถ้าหวังประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นที่ตั้ง เมื่อทุกคนมีเมตตาต่อกัน ต่างคิดจะให้ซึ่งกันและกัน ทุกคนก็จะมีความสุข ชีวิตจะมีคุณค่า โลกจะน่าอยู่ขึ้น เริ่มต้นที่ครอบครัว ที่ทำงาน พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
๖. อยากไม่หยุดก็ทุกข์ไม่จบไม่สิ้น
ความสุขไม่ได้หายไป แต่ที่ใจเราทุกข์ เพราะเรายึดไม่รู้จักวาง "สมัยเรียนได้ค่าขนมเดือนละ 3 พันบาทก็อยู่ได้ ชอบเดือนกุมภาพันธ์ที่สุดเพราะมี 29 วัน แต่ถ้าเดือนไหนมี 31 วันก็มีปาดเหงื่อ คิดว่าถ้าทำงานได้สัก 6 พันก็สบายแล้ว ได้เงินเดือนแรกเริ่มได้ 7 พันกว่าบาท รู้สึกมีความสุขสุดๆ แต่ความสุขนั้นอยู่ได้แค่ 4 เดือน พอได้ 7 พันก็อยากจะได้หมื่น พอได้หมื่นก็อยากได้หมื่นห้า อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ขนาดตอนเงินเดือนเป็นแสนก็ยังไม่สุขเลย เพราะมัวแต่ไปคิดว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว" คุณพิทยากร ลีลาภัทร เจ้าของเพจ "ธนาคารความสุข" (Happiness Bank)
๗. ศรัทธา-ปัญญา ต้องมาคู่กัน
คนเราต้องมี "ศรัทธา" กับ "ปัญญา" ให้เสมอกันเพราะ "ศรัทธา" จะช่วยให้ในวันที่เรายังหาคำตอบด้วยปัญญาไม่ได้ เรายังไม่ล้มเลิกในการทดลอง ถ้ายังมีศรัทธาอยู่จะทำให้เรายังคงปฏิบัติไปเรื่อยๆ แต่ถ้าศรัทธามากเกินก็จะกลายเป็นคนงมงายจนไม่สนเหตุผลอะไร และเมื่อเกิดเป็นปัญญา สามารถเข้าใจเหตุและผล เข้าใจทุกข์ ที่มาของทุกข์ และทางดับทุกข์ได้แล้ว ก็ไม่ต้องไปออกแรงเรียกร้องให้ใครปฏิบัติตาม เพราะเสียงเรียกที่เปล่งออกไปแล้วดัง และทรงพลังที่สุดไม่ใช่คำพูด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เห็นจากการกระทำ นที เอกวิจิตร (อุ๋ย) นักร้องนำวงบุดดาเบลส