ปัจจุบันหลายพื้นที่ของประเทศกำลังเผชิญกับ
วิกฤตภัยแล้ง ซึ่งจากการคาดการณ์สภาพอากาศของประเทศไทยพบว่า ช่วง
ฤดูแล้งอาจยาวนานไปจนถึงช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 เนื่องจากเกิดภาวะฝนตกน้อย ไม่มีฝนตก และฝนทิ้งช่วง ทำให้หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับมือและลดผลกระทบจากปัญหาสภาวะภัยแล้ง ดังนี้
ภาคประชาชน
- ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า โดยปิดก๊อกน้ำให้สนิททุกครั้ง หลังใช้งาน และจัดหาภาชนะรองน้ำ พร้อมนำน้ำ ที่เหลือไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น อาทิ ถูบ้าน รถน้ำต้นไม้
- เตรียมภาชนะกักเก็บน้ำ โดยจัดหาและซ่อมแซมภาชนะใส่น้ำให้พร้อมสำหรับสำรองน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค
- เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ โดยติดตั้งอุปกรณ์เติมอากาศที่ก๊อกน้ำ ฝักบัว หรือชักโครก เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำและลดปริมาณการใช้น้ำ
- หมั่นตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำ โดยปิดก๊อกน้ำให้สนิททุกตัว จดเลขมาตรวัดน้ำไว้ หากตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลงแสดงว่ามีน้ำรั่วซึม ให้รีบดำเนินการซ่อมแซม จะได้ไม่สูญเสียน้ำโดยไม่จำเป็น
ภาคการเกษตร
- รักษาความชื้นในดิน โดยการไถพรวนดินอยู่เสมอ พร้อมนำวัสดุมาคลุมหน้าดิน อาทิ ฟางข้าว แกลบ ขี้เลื่อย หรือพลาสติก เพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้กับดิน
- ไม่เผาตอซัง เพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร ให้ใช้วิธีไถกลบแทน
- ติดตามสถานการณ์น้ำ และแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ รวมถึงวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่
- สร้างระบบกักเก็บน้ำในพื้นที่ อาทิ ขุดร่องน้ำ หรือใช้ระบบน้ำบาดาล
- ทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย อาทิ ใช้ระบบน้ำหยดในพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย อาทิ ถั่วลิสง ข้าวโพด
- งดทำนาปรังช่วงฤดูแล้ง เพื่อป้องกันนาข้าวเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ
ภาคอุตสาหกรรม
- จัดหาแหล่งน้ำสำรองและกักเก็บน้ำไว้ใช้ พร้อมวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่
- ตรวจสอบระบบการจัดสรรน้ำให้พร้อมใช้งาน ทั้งท่อส่งน้ำ ระบบการกระจายน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสีย
- เลือกใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีประหยัดน้ำ เพื่อลดการสิ้นเปลืองน้ำ และนำน้ำมาหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
ทั้งนี้ การใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลัก 3R โดยลดการใช้น้ำ (Reduce) ใช้น้ำซ้ำ (Reuse) และนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมถึงการวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับแผนการจัดสรรน้ำและปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ จะช่วยลดผลกระทบวิกฤตขาดแคลนน้ำได้