คุณชยพล ศรศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารความรับผิดชอบต่อสังคม กล่าวว่า "ภายใต้แนวคิดและความเชื่อที่ว่า สังคมที่ดีต้องมาจากรากฐานที่ดี กลุ่มบริษัท สยามไวเนอรี่ จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์และพัฒนา สังคมด้วยโครงการและงานอาสาสมัครมากมาย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนชนบทในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาเราเดินทางเข้าพื้นที่ในถิ่นทุรกันดาร และห่างไกลทั่วประเทศ เพื่อศึกษาหาข้อมูลจนรู้ถึงความจำเป็นและความต้องการของเยาวชนในโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ จึงทำให้เกิดโครงการ "การเดินทางของไออุ่น" ขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา สยามไวเนอรี่ ได้มอบสิ่งของและเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสำหรับปีนี้นับเป็นโอกาสพิเศษที่โครงการครบรอบ 10 ปี เราจึงตั้งใจที่จะจัดกิจกรรม 2 ทริป เพื่อช่วยเหลือเยาวชนพื้นที่ห่างไกล และในขณะเดียวกันก็ได้ช่วยเหลือครอบครัวและคนในชุมชนไปพร้อมๆ กัน โดยเราได้มอบเสื้อผ้า รองเท้าอุปกรณ์การศึกษาและกีฬาแก่โรงเรียนที่ขาดแคลน ถือเป็นการตอกย้ำจุดยืนที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยหนาวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงร่วมทำกิจกรรมและได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างใกล้ชิดด้วย"
สำหรับโรงเรียนบ้านสบเมย เป็นโรงเรียนที่อยู่ใน ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อาศัยลุ่มน้ำสาละวินในการดำเนินชีวิตและหล่อเลี้ยงสมาชิกครอบครัวมาหลายชั่วอายุคน ด้วยดินดี อากาศดี น้ำดี จึงทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเพาะปลูกที่หลากหลาย มีความสมบูรณ์ทางด้านพืชพันธุ์ ผักต่างๆ มากมาย ส่วนการเรียนการสอนของโรงเรียนสบเมยนั้น มีตั้งแต่ระดับชั้นประถม ป.1-ป.6 มีนักเรียนทั้งสิ้น 205 คน โดยมีเด็กอยู่ประจำ 65 คน ครู 18 คน ส่วนศูนย์เด็กเล็ก มี 3 ศูนย์ย่อย 1.บ้านสบเมย จำนวน 30 คน 2.บ้านพะละอี จำนวน 20 คน 3.บ้านโกะงอคี จำนวน 22 คน และมีเด็กบางส่วนเป็นชนกลุ่มน้อย หรือกำพร้าเนื่องจากการสู้รบจำนวนหนึ่ง
ในขณะที่ ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ณ บ้านแสนสุข อ.แม่จัน จ.เชียงรายซึ่งได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีอาสาสมัครจากกลุ่มบริษัทสยามไวเนอรี่ และกลุ่มเยาวชนบ้านแสนสุข อ.แม่จัน จ.เชียงราย ร่วมกันทำกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำกับชาวบ้าน ตลอดจนเยี่ยมชมโครงการพึ่งพาตนเองวิถีพอเพียง เยาวชนบ้านแสนสุข พร้อมดำเนินการแจกผ้าห่ม เสื้อกันหนาวให้กับชาวบ้านอีกด้วย
สำหรับบ้านพักแสนสุขก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 โดย นายธีรวัฒน พิทักษ์ไพรศรี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่คำที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ได้นำเด็กๆ ที่อยู่พื้นที่ห่างไกลมาอุปการะ เพื่อให้ได้รับการศึกษา โดยเด็กๆส่วนใหญ่มีฐานะยากจน โครงการ "ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน" ถือเป็นการต่อยอดโครงการปศุสัตว์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท สยามไวเนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด เป็นการขยายโอกาสเพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพเด็กและชุมชนที่ด้อยโอกาส เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในช่วงระหว่างมาพักอาศัยเรียนที่บ้านพักแสนสุข ให้นักเรียนที่กำลังศึกษาได้มีโอกาสได้เรียนรู้ได้ฝึกฝนการพึ่งพาตนเองอย่างถูกวิธี และขยายโอกาสสู่ผู้ปกครองเพื่อนำไปพัฒนา บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งสามารถสร้างอาชีพเสริมให้กับครอบครัวของเยาวชน ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยเชื่อมโยงปัจจัยต่างๆในการประกอบอาชีพ เช่นการอนุรักษ์ทรัพยากร น้ำ, ป่า การอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ สืบสานแก่ลูกหลานต่อไป
โดยโครงการการเดินทางของไออุ่น มุ่งมั่นที่จะให้เยาวชนในพื้นที่ได้พัฒนาศักยภาพที่กำลังศึกษาให้มีความรู้ทักษะและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพในอนาคตได้ พร้อมผลักดันให้ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้เป็นแหล่งอาหาร มีโภชนาการที่ดี สำหรับเด็กๆในบ้านพักที่นำมาอุปการะ พร้อมกันนี้ยังนำรายได้บางส่วนมาเป็นค่าใช้จ่ายแก่เด็กๆในบ้านพัก และเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้ปกครองฯ และชุมชนที่ห่างไกลเข้ามาศึกษาเรียนรู้
นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์แจกจ่ายพันธุ์ ปศุสัตว์ และ พันธุ์พืช, ศูนย์เรียนรู้และเผยแพร่วัฒนธรรมประจำเผ่า และเป็นศูนย์กลางเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เอื้อต่อการดำรงชีพ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ มีอาชีพมีรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว รวมถึงการศึกษาของบุตรหลานสู่สังคมผู้ด้อยโอกาสต่อไป
ด้วยพันธกิจในการมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสังคมอย่างจริงใจ กลุ่มบริษัท สยามไวเนอรี่ จึงพร้อมที่จะเป็นองค์กรที่เติบโตเคียงคู่ไปกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ "การเดินทางของไออุ่น" และกิจกรรมอื่นๆ ได้ในเว็บไซต์ www.siamwinery.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit