ดร. กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กยท. เปิดเผยว่า เดิมสถาบันวิจัยยางใช้พื้นที่ของ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่บางเขน ในการปฏิบัติงานมาโดยตลอด จนเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ให้เป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีสำนักงานใหญ่ของ กยท. อยู่ที ถนนบางขุนนนท์ กรุงเทพฯ ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพและความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน สถาบันวิจัยยาง จึงย้ายที่ทำการมาปฏิบัติงาน ณ กยท. สำนักงานใหญ่ บางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ตั้งเดือนมกราคม ๒๕๖๓ เป็นต้นไป
สถาบันวิจัยยางมีบทบาทภารกิจหลัก ได้แก่ งานด้านวิชาการ การค้นคว้า การศึกษาวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านยางพาราอย่างครบวงจร อาทิ การปรับปรุงพันธุ์ยาง เทคโนโลยีชีวภาพยาง การพัฒนาระบบกรีดยาง การเขตกรรมและการปลูกสร้างสวนยาง การจัดการธาตุอาหารพืช การอารักขาพืช การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในการทำสวนยางพารา หรือ Good Agricultural Practices (GAP) การปลูกพืชผสมผสาน ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืช การบริหารเงินทุนวิจัยของกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา ๔๙ (๔) การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยใหม่ๆ การสร้างนวัตกรรม รวมถึงการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และขยายผลในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
ดร. กฤษดา กล่าวย้ำว่า "สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางหรือผู้ที่สนใจ ต้องการติดต่องานหรือสอบถามข้อมูลต่างๆ สถาบันวิจัยยาง พร้อมให้บริการด้านวิชาการและงานวิจัยยางพารา ติดต่อได้ที่ การยางแห่งประเทศไทย ชั้น 5 อาคาร 50 ปี ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ในวันและเวลาราชการ หรือศูนย์วิจัยยางภูมิภาคทั้ง ๕ แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยยางสงขลา ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา ศูนย์วิจัยยางบุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยยางหนองคาย ซึ่งยังคงตั้งอยู่ที่ทำการเดิม"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit