วศ.ร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนระบบ NQI เพื่อการพัฒนาประเทศ

20 Jan 2020
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดประชุมหารือการจัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure : NQI) เป้าหมายเพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อน NQI ร่วมกันตอบโจทย์ตามความต้องการ NQI system integration เพื่อการพัฒนาประเทศ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภายในกระทรวง อว. และหน่วยงานภายนอก โดยรอบแรกประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์บริการ และในวันนี้ 17 มกราคม 2563 มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมการค้าภายใน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์บริการ ณ ห้องประชุมอัครเมธี ชั้น 6 อาคารตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
วศ.ร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนระบบ NQI เพื่อการพัฒนาประเทศ

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ประธานการประชุม ได้กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมได้เห็นถึงความสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ หรือ NQI ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 5 ด้าน คือ การกำหนดมาตรฐาน (Standardization) การรับรองระบบงาน (Accreditation) มาตรวิทยา(Metrology) การตรวจสอบและรับรอง(Conformity Assessment) การกำกับดูแลตลาด(Market Surveillance) กลไกการขับเคลื่อน NQI มุ่งเน้นสู่เป้าหมายเกิดการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องของมาตรฐาน การรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการ กำลังคนด้านNQI ระบบการวัด การพัฒนาหน่วยตรวจสอบและรับรอง ซึ่งหน่วยงานที่ได้มาร่วมประชุมหารือด้วยกันทั้งในรอบแรกและในวันนี้จะเป็นหน่วยร่วมด้วยช่วยกันเพื่อผลักดันการขับเคลื่อนใน 7 สาขา สำคัญของประเทศ ได้แก่ ระบบนิเวศโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ อาหารสุขภาพและสมุนไพรไทย ยาชีววัตถุ ระบบตรวจจับ (Sensor) การสื่อสารและเคลื่อนย้ายในอนาคต (Future mobility) อุตสาหกรรมเป้าหมาย และเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมสีเขียว(Green and Environmental Economy) ที่นับเป็นความร่วมมือสร้างความเข้มแข็งระบบ NQI system integration มีเป้าหมายเสริมสร้างเศรษฐกิจหลัก BCG โมเดล ได้แก่ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ (B Bio Economy) เน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (C Circular Economy) ที่คำนึงถึงการหมุนเวียนนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (G Green Economy) ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะส่งผลเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป