นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ภาพรวมของอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกขณะนี้มีปริมาณน้ำร้อยละ 50 ของความจุอ่าง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณน้ำ ร้อยละ 89 จึงมอบหมายให้กรมชลประทานทบทวนการบริหารจัดการน้ำจากแนวทางเดิม 6+2 กล่าวคือจากเดิมช่วง 6 เดือนแรกตั้งแต่พฤศจิกายนถึงเมษายน ช่วง 2 เดือนหลังจากพฤษภาคมถึงมิถุนายนเป็น 6+3 คือพฤษภาคมเป็นถึงกรกฎาคมหรือเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเดือน เพื่อลดความเสี่ยงจากฝนทิ้งช่วง ตามคาดการของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งหากบริหารจัดการน้ำได้สอดคล้องตามแผนจะมีน้ำเพียงพอและผ่านหน้าแล้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังให้พิจารณาเพิ่มเป้าหมายรณรงค์ประหยัดการใช้น้ำจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15 รวมถึงเตรียมแผนหมุนเวียนน้ำจากอ่างข้างเคียงหรือที่เรียกว่าอ่างพวง และดึงน้ำจากแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เข้ามาเก็บที่อ่างฯ รวมถึงเพิ่มการปฏิบัติการฝนหลวงในภาคตะวันออกระหว่างวันที่ 13 - 25 ม.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีความชื้นสัมพัทธ์เพียงพอที่จะทำฝนเทียม
สำหรับในส่วนของอ่างเก็บน้ำประแสร์นั้น มีความจุที่เก็บกักได้ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีน้ำอยู่เพียง 112.80 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 37.24 % เมื่อเทียบกับวันเดียวกันของปีที่แล้ว (16 ม.ค. 62) มีปริมาณน้ำถึง 217.96 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 73.88% ของความจุอ่างฯ เนื่องจากไม่มีน้ำไหลลงอ่างและไม่สามารถสูบน้ำจากคลองสะพานได้จนกว่าจะถึงเดือนมีนาคม อีกทั้งปริมาณน้ำฝนยังต่ำสุดในรอบ 15 ปี
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 9 ได้แก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการวางท่อชั่วคราวขนาด 1.25 ม. ระยะทาง 2,800 เมตร เพื่อดึงน้ำจากคลองสะพานมาสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งสามารถดึงน้ำได้ 2 ลบ.ม./วินาที หรือ 160,000 ลบ.ม./วัน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นจะวางท่อถาวรด้วยดึงน้ำจากคลองวังโตนด ระยะทาง 45 กม.โดยใช้ท่อขนาด 1.80 ม. ซึ่งจะดึงน้ำได้ถึง 400,000 ลบ.ม./วัน
สำหรับบริเวณท้ายอ่างฯ ซึ่งมีพื้นที่สวนและเกษตรกรรม 2,000 กว่าไร่นั้น ปัจจุบันยังจัดสรรน้ำเฉลี่ยให้ใช้ได้ในปริมาณเหมาะสมเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์ต้องส่งให้พื้นที่ชลบุรี พัทยา และระยอง เพื่อผลิตน้ำประปาด้วย จึงต้องขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรให้ใช้น้ำเฉพาะที่จำเป็นและปรับเปลี่ยนการให้น้ำแก่พืชสวนตามสถานการณ์ในปัจจุบัน
ด้าน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกปัจจุบัน (17 ม.ค. 63) ภาคตะวันออกมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง ปริมาณน้ำรวมประมาณ 671 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 55 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 542 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำสายต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 30 – 50 ของลำน้ำ
ในส่วนของมาตรการรองรับวิกฤติขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง รวมถึงเขต EEC นั้น กรมชลประทานมีการประชุมหารือกับทุกภาคส่วนที่จะดึงน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อให้หมุนเวียนถ่ายเทกันไป โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท อีสท์วอเตอร์ ดำเนินการเชื่อมท่อจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงอ่างเก็บน้ำปลาไหลเพื่อลดการสูญเสียน้ำ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมรอบอ่างเก็บน้ำประแสร์นั้น เราเก็บกักน้ำไว้ให้อย่างเพียงพอและผ่านพ้นหน้าแล้งนี้ได้อย่างแน่นอน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit