27 นักศึกษาผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพช่างอากาศยานจาก ม.ซานตง-เจียวธง แจง ได้มากกว่าการฝึก

17 Jan 2020
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือน และบริษัทสายการบินต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรช่างอากาศยาน หรือ Aircraft Mechanic ที่ได้มาตรฐาน ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งผู้เรียนจะใช้เวลาเรียน 2 ปี กับอีก 1 ภาคฤดูร้อน โดยเปิดสอนนำร่องใน 6 สถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคถลาง วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ และวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินไทย ที่ปัจจุบันยังขาดแคลนวิศวกรอากาศยานและช่างอากาศยานที่สามารถช่วยในการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาเครื่องบินที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากการประเมินของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้มีการระบุข้อมูลที่เป็นตัวเลขความต้องการบุคลากรด้านการบิน การควบคุมการจราจรทางอากาศ และช่างอากาศยานภาคพื้น จำนวนมากกว่า 40,000 อัตรา ซึ่งขณะนี้วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่นได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนสาขาช่างอากาศยานอย่างต่อเนื่องมา 3 รุ่นแล้ว และรุ่นที่ 2 นักศึกษาระดับ ปวส.2 ได้ผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพสาขาช่างอากาศยาน จากมหาวิทยาลัยซานตง-เจียวธง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเวลา 10 เดือน จำนวน 27 คน โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มอบให้นายอรรถพล สังขวาสี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนายอดุลย์ พิมพ์ทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น เดินทางไปนิเทศก์การฝึก และร่วมพิธีมอบใบประกาศนียบัตรผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในครั้งนี้ด้วย
27 นักศึกษาผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพช่างอากาศยานจาก ม.ซานตง-เจียวธง แจง ได้มากกว่าการฝึก

นายอรรถพล สังขวาสี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า การไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาสาขาช่างอากาศยาน วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น จำนวน 27 คน ณ มหาวิทยาลัยซานตง-เจียวธง ในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จากครูฝึกที่มีวุฒิการศึกษาและความชำนาญที่เรียกว่า ช่าง Airframe (Airframe Technician) ที่สามารถดูแล ตรวจเช็ค และซ่อมบำรุงโครงสร้างและลำตัวเครื่องบิน รวมถึงระบบของเครื่องบิน และเครื่องยนต์ของอากาศยานประเภทต่าง ๆ ซึ่งนักศึกษาทั้ง 27 คน ได้เรียนรู้การตรวจหาสาเหตุและวิธีเปลี่ยนอุปกรณ์อากาศยานที่เสีย ชำรุด หรือหมดอายุการใช้งาน โดยเน้นในระบบและอุปกรณ์ เช่น ล้อ เบรก ปีกและประตูเครื่องบิน ปั๊มและวาล์ว ตัวกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องยนต์ ซึ่งพื้นฐานเกี่ยวกับทักษะเชิงช่าง นักศึกษาได้เตรียมฝึกไปจากวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่นแล้วในปีที่ 1

ด้านนายอดุลย์ พิมพ์ทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น ได้กล่าวเสริมว่า นักศึกษาทั้ง 27 คน นอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับช่างอากาศยานแล้ว ยังได้ความรู้ด้านภาษาเพิ่มเติมอีก 2 ภาษา คือภาษาจีน และภาษาอังกฤษ เนื่องจากการฝึกประสบการณ์ที่มหาวิทยาลัยซานตง-เจียวธง ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการเรียนรู้ ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันต้องใช้ทั้งสองภาษา เพราะต้องพูดคุยกับเพื่อนชาวจีนและชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่มาเรียนร่วมกัน จากการพูดคุยกับนักศึกษาทั้ง 27 คน ทุกคนตอบตรงกันว่าได้รับประสบการณ์ด้านอาชีพที่ดีมาก ๆ มีความมั่นใจในอาชีพเพิ่มขึ้น และหากเป็นไปได้จะกลับมาเรียนต่ออีก 2 ปี เพื่อให้จบปริญญาตรี ซึ่งในจำนวนนักศึกษาทั้ง 27 คน มีนักศึกษาหญิงที่มาร่วมฝึกประสบการณ์อาชีพด้วยจำนวน 2 คน และได้มองเห็นว่านอกจากการเป็นช่างซ่อมอากาศยานแล้ว ยังมีอาชีพอื่นที่น่าสนใจอีก เช่น เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศยาน พนักงานบริการภาคพื้น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เจ้าหน้าที่บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการฯ กล่าวปิดท้ายว่า การจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาในขณะนี้ มีความทันสมัยมากขึ้น และเปิดสอนเพิ่มเติมในสาขาที่เป็นวิชาแห่งอนาคตที่จะต้องเริ่มเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งตั้งแต่ปัจจุบัน โดยอาชีวศึกษาได้จัดการเรียนในหลักสูตรอาชีวะพรีเมี่ยม เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง เช่น สาขาช่างอากาศยาน สาขาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง

HTML::image( HTML::image( HTML::image(