นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย กำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญต่อการบริหารจัดการด้านต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยและต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายที่เพิ่มขึ้น สวนทางปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 62/63 ซึ่งคาดว่า จะลดลงเมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีก่อน จากสภาพปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เพาะปลูกและในบางพื้นที่เจอสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลภาพรวมอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงสูงขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลง 3-4 ล้านตัน
ทั้งนี้ ในฐานะประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ต้องเร่งวางแผนบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกอ้อยในไร่ การจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก เพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่คุกคามอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตต่อไร่และคุณภาพอ้อยเข้าหีบ ทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยไม่ดีเท่าที่ควร และต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น
ดังนั้น โรงงานจะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหีบสกัดน้ำตาลให้สูงที่สุด เพื่อให้ชาวไร่รับผลประโยชน์สูงสุดจากการเพาะปลูก โดยปีการผลิต 2562/63 ชาวไร่และโรงงานต้องร่วมมือบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากคาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบไม่เกิน 100 ล้านตันเท่านั้น ต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบถึง 130 ล้านตันอ้อย
ขณะเดียวกัน คุณภาพผลผลิตอ้อยยังเสี่ยงสูงจากปัญหาอ้อยไฟไหม้ เนื่องจากชาวไร่มีต้นทุนสูงในการจัดเก็บผลผลิตอ้อยสดส่งโรงงาน แม้ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลพยายามจัดส่งรถตัดอ้อยเข้าไปช่วยเหลือชาวไร่คู่สัญญาแล้ว แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือ เช่น การสนับสนุนรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำให้แก่โรงงาน เพื่อนำไปสนับสนุนชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เป็นต้น
"อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยปีนี้ ต้องบริหารความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิตที่ดี ในยามที่อ้อยเข้าหีบลดลงและยังมีปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ส่งผลต่อการหีบสกัด ทำให้ได้น้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง แถมยังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทแข็งที่กระทบต่อรายได้ของอุตสาหกรรม เพราะรายได้กว่า 75% ของอุตสาหกรรมมาจากส่งออก หากเงินบาทแข็งมาก รายได้เป็นเงินบาทก็จะลดลง จะส่งผลทำให้มีรายได้ที่จะนำไปแบ่งปันระหว่างชาวไร่และโรงงานลดลง" นายสิริวุทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกว่า หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านนั้น จะส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกเพียงใด โดยหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ อย่างประเทศบราซิล จะนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้น ทำให้ซัพพลายน้ำตาลเข้าสู่ตลาดลดลง อีกทั้งหลายประเทศประสบปัญหาสภาพอากาศ โดยเฉพาะ ไทย มีผลผลิตน้ำตาลลดลงอย่างมาก จึงมีโอกาสที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับเพิ่มขึ้นได้