วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering): เจนจัดเรื่อง 'ก่อสร้าง' พร้อมเนรมิตทุกสิ่งอันตั้งแต่ถนน สะพาน จนถึงตึกระฟ้า
สำหรับน้อง ๆ ที่มีฝันอยากเนรมิตสิ่งปลูกสร้าง นับตั้งแต่บ้าน อาคาร ไปจนถึงสะพาน เขื่อน หรืออุโมงค์นั้น "วิศวกรรมโยธา" ถือว่าตอบโจทย์! เพราะน้อง ๆ จะได้เรียนตั้งแต่การเขียนแบบวิศวกรรม การประเมินว่าพื้นที่นั้น ๆ มีความจำเป็นจะต้องมีสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นหรือไม่ ต้องเลือกใช้วัสดุ-ขนาดใดในการก่อสร้าง หรือมีแนวทางในการก่อสร้างอย่างไรที่กระทบกับผู้คนโดยรอบน้อยที่สุด โดยสิ่งที่น้อง ๆ จะได้เรียน อาทิ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ กลศาสตร์ วัสดุวิศวกรรม ธรณีวิทยา การวิเคราะห์โครงสร้าง เทคนิคการบริหารงานก่อสร้าง รวมถึงการดำเนินการและการบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้าง โดยอาชีพที่น้อง ๆ สามารถทำได้ เช่น วิศวกรก่อสร้าง วิศวกรด้านผลิตภัณฑ์วัสดุ วิศวกรสำรวจเส้นทางในการสร้างถนนหรือระบบขนส่ง วิศวกรที่ปรึกษา ประจำบริษัทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ วิศวกรประจำบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ฯลฯ
วิศวกรรมเหมืองแร่ (Mining Engineering): เชี่ยวชาญด้านงาน 'ขุดเจาะแร่' พร้อม 'คัดแยกธาตุ' ใช้ประโยชน์ระดับประเทศ !
ถ้าน้อง ๆ คนไหนมีความสนใจเกี่ยวกับที่มาของแร่ธาตุ และอยากลองขุดคุ้ยเพื่อหาสินแร่ต่าง ๆ ด้วยตนเอง "วิศวกรรมเหมืองแร่" คือคำตอบ! เพราะน้อง ๆ จะได้รับรู้ถึงความสำคัญของแร่ในหลากหลายมิติ ทั้งเชิงอุตสาหกรรมก่อสร้าง พลังงาน เชื้อเพลิง และเครื่องประดับ พร้อมลงมือปฏิบัติจริง ตั้งแต่ขั้นตอนการค้นหา ขุดแยก และจัดการกับแร่ธาตุจากแหล่งธรรมชาติ เพื่อนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยวิชาที่น้อง ๆ จะได้เรียน อาทิ ธรณีวิทยา แร่และหิน โลหะวิทยา เทคโนโลยีปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ
ซึ่งน้อง ๆ สามารถต่อยอดอาชีพได้ในหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ กรมทรัพยากรธรณี บริษัทเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ โรงงานปูนซีเมนต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ
วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering): แข็งแกร่งเรื่องงานดีไซน์ ผลิต และซ่อมบำรุง 'เครื่องยนต์กลไก' ทุกแขนง
น้อง ๆ คนไหนรู้ตัวว่าชอบงานเครื่องกล หรือหลงเสน่ห์การเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนจักรกลต่าง ๆ เตรียมตัวให้พร้อมแล้วสมัครเรียน "วิศวกรกรรมเครื่องกล" ได้เลย เพราะสาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับการออกแบบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักร การศึกษาการเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนเครื่องจักร การถ่ายเทพลังงานความร้อน การวิเคราะห์การสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ หุ่นยนต์ พร้อมเปิดโอกาสให้ลงมือออกแบบ ผลิต และซ่อมบำรุงรักษาระบบเชิงกลด้วยตนเองทุกแขนง ซึ่งวิชาที่น้อง ๆ จะได้เรียนมีดังนี้ กลศาสตร์ พลศาสตร์ เมคคาทรอนิกส์ วัสดุวิศวกรรม การออกแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ ฯลฯโดยตัวอย่างอาชีพที่น้อง ๆ สามารถทำได้ในอนาคต เช่น วิศวกรออกแบบชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ วิศวกรซ่อมบำรุงเครื่องจักรภายในโรงงาน วิศวกรควบคุมการผลิตและตรวจสอบคุณภาพ ฯลฯ
วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering): ปราดเปรื่องเรื่องเชื่อมต่อ 'วงจรไฟฟ้า' ที่พร้อมขับเคลื่อนการสื่อสารทุกระบบ
หากน้อง ๆ คนไหนที่สนุกกับการเชื่อมต่อแผงวงจรไฟฟ้า หรือรู้สึกดีทุกครั้ง ก็สามารถยื่นใบสมัครสอบ "วิศวกรรมไฟฟ้า" ได้เลย เพราะสาขานี้จะทำให้น้อง ๆ ใจเต้นแรงขึ้นไปอีก เมื่อต้องเรียนเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน การวิเคราะห์-ออกแบบ-ผลิตระบบไฟฟ้าที่ใช้ตามครัวเรือน อาคารสำนักงาน และโรงงาน การควบคุมระบบการผลิตอัตโนมัติในโรงงาน การควบคุมวงจรไฟฟ้าในระบบการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งดาวเทียม และอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด โดยวิชาที่น้อง ๆ จะได้เรียน ตัวอย่างเช่น ระบบไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์กำลัง คณิตศาสตร์วิศวกรรมไฟฟ้า การออกแบบระบบสื่อสาร ฯลฯ
โดยน้อง ๆ สามารถเลือกเส้นทางอาชีพได้ดังนี้ วิศวกรด้านไฟฟ้ากำลัง วิศวกรด้านโทรคมนาคม วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering): ยืนหนึ่งเรื่องการผลิตที่คุ้มค่า พร้อมลดปริมาณของเหลือทิ้งโรงงาน โดยการสังเกต
หากคนไหนรู้ตัวว่าเป็นคนชอบสังเกต คิดเป็นระบบ และบ่อยครั้งที่คิดหาวิธีลดขั้นตอนการทำงานที่ได้รับมอบหมาย แถมยังชื่นชอบสายอาชีพวิศวฯ อีกด้วย เตรียมตัวสมัครเรียน 'วิศวฯอุตสาหการ' กันได้เลย เพราะสาขานี้ เน้นเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบ และพัฒนาระบบงานภายในโรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย 'การสังเกต' ใน 2 มิติหลัก คือ 'การจัดสรรทรัพยากรการผลิต' ผลิตอย่างไรให้คุ้มค่าและได้กำไรสูงสุด และ 'เพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิต' ผลิตอย่างไรให้สามารถลดของเสียจากการผลิตได้มากที่สุด โดยวิชาที่น้อง ๆ จะได้เรียนมีดังนี้ วัสดุวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์วิศวกรรม การวางแผนและควบคุมการผลิต การพยากรณ์ทางอุตสาหกรรม ฯลฯ
ตัวอย่างอาชีพที่น้อง ๆ ทำได้ อาทิ ผู้จัดการโรงงาน วิศวกรวางระบบ วิศวกรในสถาบันการเงิน นักวิจัยในหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ฯลฯ
วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering): ยืนหยัดกับการคิดหาโซลูชัน และใช้เทคโนโลยีแก้ 'ปัญหาสิ่งแวดล้อม'
หากน้องเป็นคนหนึ่งที่หายใจเข้าและออก ถึงแต่เรื่อง 'มลภาวะสิ่งแวดล้อม' ว่าเป็นปัญหาที่สังคมต้องเร่งแก้ หรืออยากเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขจัดปัญหาเหล่านั้นให้หมดไป แสดงว่า น้อง ๆ เริ่มจะตกหลุมรัก 'วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม' เข้าซะแล้ว เพราะสาขานี้จะพาไปเรียนรู้ตั้งแต่ประเภททรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงคุณภาพของของเสีย โดยรายวิชาที่จะได้เรียน เช่น เคมีของน้ำและน้ำเสีย การออกแบบระบบท่อระบายน้ำเสียและการสูบน้ำ มลพิษทางอากาศและการควบคุม การสุขาภิบาลอาคาร การจัดการระบบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ทั้งนี้ สายวิศวฯ สิ่งแวดล้อมสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดังนี้ กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน การบริหารจัดการระบบมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering): แปลงสภาพ 'สารเคมี' สู่ 'เคมีภัณฑ์' ที่ใช้ประโยชน์ได้ตามต้องการ
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่สนใจ กระบวนการผลิตทางเคมีในภาคอุตสาหกรรม หรือการแปรสภาพสารเคมี สู่ 'เคมีภัณฑ์' ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และสามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบทางเคมี บนพื้นฐานของการคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิชาที่ จะได้เรียน อาทิ เคมีพื้นฐาน กระบวนการทางวิศวกรรมเคมี เศรษฐศาสตร์จุลภาคเบื้องต้น การบำบัดของเสียจากอุตสาหกรรม เทคโนโลยีปิโตรเลียม ฯลฯ
ตัวอย่างอาชีพที่สามารถทำได้ อาทิ วิศวกรควบคุมกระบวนการผลิต วิศวกรความปลอดภัยกับงานสิ่งแวดล้อม วิศวกรออกแบบเครื่องมือ และอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และผู้ประกอบการธุรกิจ
ไม่เพียงเท่านี้ วิศวฯ ทั้ง 7 สาขาข้างต้น ยังพ่วงมากับ "ใบ ก.ว." หรือ "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม" โดยมี "สภาวิศวกร" เป็นผู้จัดสอบและออกใบอนุญาต ซึ่งใบ ก.ว. เปรียบเหมือนใบเบิกทางสู่โอกาสสำคัญในการทำงานด้านวิศวฯ ในรายได้ที่สูงขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นด้านวิชาชีพแก่ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสายงานที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน นอกจากนี้ ยังเป็นบันไดอีกขั้นที่ช่วยให้น้อง ๆ สามารถเข้าใกล้ประสบการณ์ทำงานระดับอาเซียนและทั่วโลกในอนาคต
น้อง ๆ รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน "ประเทศไทย" มีวิศวกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ และถือใบ ก.ว. ในภาคอุตสาหกรรมเพียง 1.7 แสนคนเท่านั้น ! ขณะที่มากกว่า 90% ของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ล้วนแต่ต้องการวิศวกรสาขาพื้นฐาน เข้ามาช่วยก่อร่างสร้างเมืองให้มีคุณภาพในมิติต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ผ่านการเนรมิตสิ่งปลูกสร้างที่มีโครงสร้างมั่นคงและครบทุกฟังก์ชันการใช้งาน การใช้ประโยชน์จากแร่ธรรมชาติในการก่อสร้าง รวมไปถึงการจัดระบบการทำงานที่คล่องตัวมากขึ้น
สำหรับน้อง ๆ ที่จะขอรับใบอนุญาตฯ สามารถตรวจสอบ "หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ที่ผ่านการรับรองโดยสภาวิศวกร" ก่อนเข้ารับการศึกษาได้ที่ www.coe.or.th/http_public/main/choice_1/certified/examination.php หรือสายด่วน 1303
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit