นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วิกฤติภัยแล้ง ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วง และมีข้อสั่งการให้ทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)ดำเนินมาตรการรับมือวิกฤตภัยแล้งด้วยกลไกประชารัฐ โดยมีมาตรการสำคัญและเร่งด่วนในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงมาตรการในการลดความเดือดร้อนจากสภาวะเศรษฐกิจผันผวน โดยสนับสนุนสินเชื่อ การสร้างงานสร้างอาชีพ และการสร้างโอกาสทางการตลาดรวมถึงการส่งเสริมการลงทุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนสามารถปรับตัวและรับมือกับวิกฤตการและสภาวะดังกล่าวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โดย กสอ. ได้ดำเนินกิจกรรมผ่านการสนับสนุนอุปกรณ์ภาชนะในการกักเก็บน้ำและถ่ายทอดองค์ความรู้การสร้างภาชนะกักเก็บน้ำ การบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ผลิตและอุปโภคบริโภคในระดับครัวเรือนและระดับชุมชนในท้องถิ่น รวมถึงกิจกรรมการสนับสนุนสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี ผ่านกองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ กิจกรรมการส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอี ด้านการตลาดทั้งในรูปแบบออนไลน์ ด้วยอีคอมเมิร์ซ และแบบออฟไลน์ ด้วยการจัดกิจกรรมการจำหน่ายสินค้า รวมทั้งกิจกรรมสร้างโอกาสทางการตลาดและส่งเสริมการลงทุน เพื่อเป็นการสร้างและขยายโอกาสทางการตลาดกับต่างประเทศ ซึ่ง กสอ. ได้กำหนดมาตรการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ผ่านกิจกรรมนำร่องระบบกักเก็บน้ำเพื่อวิสาหกิจชุมชนและราษฎร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความรับรู้การจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับกักเก็บน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ เพื่อผลิต ประกอบการ และอุปโภคบริโภค และพัฒนาทักษะฝึกวิธีคิดการพัฒนาตนเองให้สามารถเข้าใจและตระหนักถึงการบริหารจัดการน้ำ และการใช้น้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด
"การดำเนินกิจกรรมนำร่องระบบกักเก็บน้ำเพื่อวิสาหกิจชุมชนและราษฎร สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน หรือแม้แต่ในระดับครัวเรือนในพื้นที่ต่างๆ ช่วยลดการสูญเสียโอกาสทางการค้า สร้างรายได้และเพิ่มศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน" นางสาวสุชาดา กล่าว
ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. ได้กำหนดมาตรการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ภายใต้กิจกรรมนำร่องระบบกักเก็บน้ำเพื่อวิสาหกิจชุมชนและราษฎร และได้คัดเลือกพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้ง โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกว่า 16 อำเภอ 120 ตำบล 1,542 หมู่บ้าน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1,100 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม ขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่ยังประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภคด้วย
"ภายใต้การดำเนินกิจกรรมนำร่องระบบกักเก็บน้ำเพื่อวิสาหกิจชุมชนและราษฎรดังกล่าว ได้มีการนำร่องระบบกักเก็บน้ำที่เหมาะสมสำหรับสำรองน้ำ ให้ครอบคลุมความต้องการใช้น้ำในการผลิตสินค้าเกษตรกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการอุปโภคบริโภคของกลุ่มวิสาหกิจและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 10 หมู่บ้านนำร่อง ทั้งในพื้นที่ อำเภอเมือง อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอหนองบัวระเหว และอำเภอจัตุรัส โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำกว่า 5,037,000 ลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 270,660 บาทต่อปี อีกทั้งยังสามารถลดการสูญเสียโอกาสในการเพิ่มยอดขายกว่า 22,000,000 บาทต่อปี
โดย กสอ. จะยังดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ทั้งการสร้างระบบกักเก็บน้ำ และการฝึกอาชีพ โดยมีเป้าหมายทั้งสิ้น 10,000 ครัวเรือน" นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(