นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองรอง ภายใต้โครงการ "ยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว" โดยให้ผ้าไหมเป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อ/กระตุ้นให้เกิดการบริโภค/ซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหม สินค้า และบริการต่างๆ ในจังหวัดเมืองรองให้มากขึ้น อีกทั้งสร้างแรงบันดาลใจแก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจใช้ผ้าไหมไทย และยกระดับผู้ประกอบการผ้าไหมของไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ โดยเชื่อมโยงเครือข่ายการตลาดขนานไปตามเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการผลิต เทคนิคเฉพาะ และอัตลักษณ์ผ้าไหมของแต่ละชุมชน รวมทั้งส่งเสริมลูกหลานในชุมชนแหล่งผลิตหันมาสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นการผลิตผ้าไหมไทยมากขึ้น"
"กิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 -10 มกราคม 2563 โดยนำคณะสื่อมวลชนและบล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ร่วมเดินทางสู่จังหวัดสุพรรณบุรีและชัยนาท สัมผัสความสวยงามและวัฒนธรรมการทอผ้าไหมที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยให้สื่อมวลชนและบล็อกเกอร์ฯ เป็นตัวแทนในการถ่ายทอดความประทับใจที่ได้สัมผัส กลับมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับสาธารณชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของผ้าไหมไทย อันจะนำมาซึ่งการตัดสินใจเลือกซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทยในชีวิตประจำวันมากขึ้น รวมทั้ง สนับสนุนแนวความคิดของผู้ประกอบการที่ได้นำผ้าไหมพื้นถิ่นมาประยุกต์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งจะเป็นช่วยให้ผู้ประกอบการผ้าไหมของไทยมีความเข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น"
"สำหรับเส้นทางสายไหมสู่เมืองรองจังหวัดสุพรรณบุรีที่แรกแวะไปเรียนรู้วิธีการทำผ้าไหมด้นมือที่ กลุ่มหัตถกรรม ผ้าด้นมืออู่ทอง ต.กระจัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรีชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมือที่แปรรูปจากผ้าไหมและผ้าฝ้ายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของใช้และของตกแต่งบ้าน เช่น หมอน ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง ฯลฯ จากนั้นมาสัมผัส บรรยากาศธรรมชาติของท้องทุ่งนา ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้) อ.เมือง สถานที่ท่องเที่ยวเชิงการเกษตรที่ได้รวบรวมการทำนาและวิถีชีวิตชาวนา หอเตือนภัยชาวนา แปลงนาสาธิตลักษณะพันธุ์ข้าวนาปรัง 12 ชนิดพันธุ์ที่นิยมปลูกในปัจจุบันของ 4 ช่วงอายุข้าว เรือนศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ เรือนพระแม่โพสพ และเรือนวิถีชาวนาไทยในอดีต ช่วงเย็นแวะชมความอัศจรรย์ของ พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิหรือ หลวงพ่ออู่ทอง อันซีนสุพรรณบุรี ประติมากรรม พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นจากการแกะสลักหน้าผาหินในเขตอำเภออู่ทอง"
"วันที่ 2 เริ่มต้น...สัมผัสผ้าไหมมัดหมี่ 2 ตะกอ (หางกระรอก) ของ กลุ่มทอผ้าบ้านทุ่งแสม ต.หนองขาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรีชมการผลิตผ้าไหม ซึ่งใช้วัตถุดิบที่มีในชุมชน เริ่มจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม และการทอ เพื่อเก็บไว้ใช้ในครัวเรือน และได้พัฒนาต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่กลายเป็นอาชีพหลักของชุมชนยาวนานกว่า 40 ปี มีลวดลายที่งดงามทั้งลวดลายโบราณดั้งเดิม และที่นำมาประยุกต์ใหม่โดยมีลูกหลานในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์จากนั้นแวะเยือนสรรพยา (สับ-พะ-ยา) อำเภอเล็กๆ ที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาในจ.ชัยนาท สัมผัสวิถีชุมชนเก่าแก่อันน่าหลงใหล เพลิดเพลินไปกับบรรยากาศแบบคลาสสิค และชมผลิตภัณฑ์ผักตบชวาบ้านอ้อย ปิดท้ายไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ วัดมหาธาตุวัดเก่าแก่โบราณคู่เมืองแพรกหรือเมืองสรรค์ มีโบราณสถานซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ พระปรางค์กลีบมะเฟืองสร้างด้วยอิฐถือปูน 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลื่ยม เป็นศิลปะสมัยลพบุรี นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูป 2 แบบ ทั้งศิลปะแบบลพบุรีและแบบอยุธยาตอนต้น และยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเก็บรักษาสิ่งของโบราณด้วย"
"เส้นทางสายไหมสู่เมืองรองจังหวัดชัยนาท เต็มอิ่มกับการสัมผัสแหล่งผ้าไหมของดีจังหวัดชัยนาทที่ อ.เนินขาม ถึง 9 กลุ่มอย่างใกล้ชิด ทั้งกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ได้แก่ 1) ชมผ้าไหมยกดอกลายช่อใบมะขามกับดอกแก้วจกลายโบราณของ กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านเนินขาม หมู่ที่ 1 บ้านเนินขาม 2) ชมผ้าไหมผ้าซิ่นตีนจกยกดอกของ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านทุ่ง หมู่ 9 3) ชมผ้าไหมตีนจกยกดอกของ บ้านทุ่งรังกระโดน 4) ชมผ้าไหมลายโบราณบ้านวังคอไหของ กลุ่มทอผ้าไหมลายโบราณ 5) ชมผ้าซิ่นตีนจกจาก กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรม่วงงามไหมไทย 6) ชมเสื้อจุบหม้อของ กลุ่มเย็บเสื้อผ้าจุบหม้อบ้านโศกลึก ต.กะบกเตี้ย 7) ชมผ้าไหมมัดหมี่ลายหางกระรอกลายโบราณของ กลุ่มทอผ้าแม่บ้านเกษตรกร หมู่ 2 8) ชมผ้าซิ่นตีนจกลายช่อใบมะขามของ กลุ่มเนินขามผ้าไทย และ 9) ชมผ้าไหมมัดหมี่ของ กลุ่มวิสาหกิจ ชุมชนกลุ่มทอผ้า หมู่ 8 บ้านเนินขาม ก่อนจบทริปแวะชม บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ จ.สุพรรณบุรีบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีทั้งโซนสวนสัตว์และโซนสัตว์น้ำ แสดงสัตว์น้ำหลากสายพันธุ์ สวรรค์แห่งโลกใต้ทะเล"
"ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พบว่า ประเทศที่ผลิตเส้นไหมมากที่สุดในโลก ได้แก่ อันดับ 1 จีน อันดับ 2 อินเดีย อันดับ 3 อุสเบกีสถาน อันดับ 4 ไทย อันดับ 5 บราซิล ซึ่งปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมีนโยบายเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม โดยลดบทบาทภาคการเกษตรลง รวมทั้งสินค้าด้านหม่อนไหม ซึ่งสามารถเป็นดัชนีบ่งชี้ปริมาณการผลิตเส้นไหมที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก ดังนั้น หากประเทศไทยมีการส่งเสริมและพัฒนาด้านหม่อนไหมอย่างเต็มที่ ลดต้นทุนการผลิต การสร้างคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้เกิดความแตกต่าง และคงอัตลักษณ์ในการเป็นไหมไทยโดยแท้ที่เป็นเส้นไหมที่สาวด้วยมือ ก็จะทำให้ไหมไทยสามารถเจาะตลาดตลาดต่างประเทศได้ไม่ยาก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน" รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit