สภาผู้แทนราษฎรเร่งขับเคลื่อนแก้ไขกฎหมาย กฟก. แก้หนี้บุคคลค้ำประกัน

31 Jan 2020
หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติในคราวการประชุมครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ได้รับทราบหลักการแห่งพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... จากการลงมติ มีผู้เข้าร่วมประชุม 406 คน เห็นด้วย 394 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... จำนวน 49 คน โดยได้ประชุมนัดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติเลือก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ, นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง, นายเอกราช ช่างเหลา รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง, นายอภิชาติ ศิริสุนทร รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม, นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่, นายสมบูรณ์ ซารัมย์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ห้า, นายพรชัย อินทร์สุข เลขานุการคณะกรรมาธิการ,นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ โฆษกคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง,นายกุลเดช พัวพัฒนกุล โฆษกคณะกรรมาธิการ คนที่สอง และนายมุข สุไลมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ คนที่สาม
สภาผู้แทนราษฎรเร่งขับเคลื่อนแก้ไขกฎหมาย กฟก. แก้หนี้บุคคลค้ำประกัน

นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาร่างกฎหมายในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ได้เชิญรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ผู้แทนเกษตรกร ทั้ง 20 คน จาก 4 ภูมิภาค และที่ปรึกษาสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้กฎหมาย จากการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ประธานแจ้งต่อที่ประชุมว่าไม่มีกรรมาธิการท่านใด ลงชื่อสงวนขอคำแปรญัตติร่างกฎหมายดังกล่าว จึงคาดว่าจะทำให้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ รวดเร็วขึ้น ก่อนจะนำเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมวิสามัญครั้งที่สองและสามต่อไป

หากกฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินกรณีบุคคลค้ำประกัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 117,545 ราย ที่ได้ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้จะได้รับการแก้ไข ที่สำคัญเกษตรกรที่จะได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้ทุกรายจะต้องติดต่อองค์กรที่ตนสังกัดในแต่ละจังหวัด เพื่อร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเพื่อการสร้างรายได้นำมาชำระหนี้คืนกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ หากเกษตรกรรายใดไม่ทำแผนการฟื้นฟูฯ ดังกล่าวก็จะไม่ได้รับการแก้ปัญหาหนี้แม้จะมีสิทธิ์ก็ตาม

ส่วนเกษตรกรที่ต้องการคำปรึกษาด้านปัญหาหนี้สิน การขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร โทร. 0 2158 0342 ตามวันและเวลาราชการ

HTML::image(