นางสาวแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ศ.ศ.ป. หรือ SACICT ได้เห็นถึงคุณค่าในตัวบุคคลผู้อนุรักษ์ และสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยความอุตสาหะ รักษาคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมในศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง ด้วยความหวงแหนในสมบัติของบรรพบุรุษ ซึ่งงานหัตถกรรมบางประเภทก็มีแนวโน้มที่จะสูญหายไปจากวิถีชีวิตและสังคมไทยในปัจจุบัน บางประเภทก็นับวันเหลือผู้ที่สนใจสืบสานงานฝีมือเชิงช่างน้อยลงไปทุกที จึงให้ความสำคัญกับการที่จะอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดเหล่านี้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อ ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดสู่ความร่วมสมัย และสมัยนิยมอันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ และด้วยความสำคัญนี้ SACICT จึงมีการดำเนินกิจกรรมคัดสรร และเชิดชูบุคคลที่ทรงคุณค่าเหล่านี้เป็น "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" และ "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" เป็นประจำปี ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการพิจารณาคัดสรรบุคคลเพื่อที่จะเชิดชูเป็น ..."ครูศิลป์ของแผ่นดิน" "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" และ "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" ประจำปี 2563 นี้ ก็ยังคงให้ความสำคัญกับกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่ถือเป็นสุดยอดฝีมือ ซึ่งจะพิจารณาโดยคณะกรรมการที่มีการแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมหลากหลายแขนง ซึ่งได้ร่วมพิจารณาคัดสรรบุคคลผู้ถือเป็นที่สุดแห่งทักษะฝีมือ สำหรับในปี 2563 การพิจารณาของคณะกรรมการที่สำคัญเป็นพิเศษอีกประการหนึ่งที่นอกเหนือจากการพิจารณาจากบุคคลผู้มีทักษะฝีมือ และผู้ที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สะท้อนผ่านผลงานอันทรงคุณค่า งดงาม น่าประทับใจ ที่เป็นที่สุดของงานแขนงนั้นๆ จริงๆ แล้ว ยังพิจารณาถึงการเป็นผู้ทำงานศิลปหัตถกรรมในประเภทที่มีแนวโน้มขาดแคลนหรือมีแนวโน้มสูญหาย หรือเหลือผู้ทำน้อยรายด้วย
นางสาวแสงระวี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงในวันนี้ บุคคลที่ SACICT เชิดชูเป็น ..."ครูศิลป์ของแผ่นดิน" "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" และ "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" มีจำนวนกว่า 300 คน และผู้ที่ได้รับการเชิดชูทุกท่านเหล่านี้ จะได้รับโอกาสการส่งเสริม สนับสนุนในกิจกรรมที่จัดโดย SACICT ตามช่องทางและโอกาสที่เหมาะสม ในวันนี้ มีครู และทายาท หลายๆ ท่าน มีผลงานที่มีพัฒนาการก้าวหน้า ทั้งร่วมสมัย และทันสมัยขึ้นไปอย่างมาก หลายๆ ท่านมีการผลิตผลงานจนไม่ทันต่อความต้องการของผู้ที่ต้องการผลงานฝีมือของครูท่านนั้นๆ แต่หลายๆ ท่านก็พร้อมและยินยอมที่จะรอด้วยเพราะต้องการผลงานด้วยฝีมือ "ครู" นั่นเอง
ท่านจะพบกับสุดยอดผลงาน พร้อมกับสุดยอดฝีมือของบุคคลที่ได้รับการเชิดชูเป็น .... "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" และ "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" ประจำปี 2563 ภายในงาน "อัตลักษณ์แห่งสยาม" ครั้งที่ 11 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 30 มกราคม ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธุ์ 2563 เวลา 10.00- 20.00 น. ฮอลล์ ณ EH 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา และที่สำคัญ งาน "อัตลักษณ์แห่งสยาม" เป็นงานที่ SACICT กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ถือเป็นงานที่มีคุณค่าสมคำว่า อัตลักษณ์แห่งสยาม เพราะเป็นงานที่แสดงตัวตน และผลงานของบุคคล ชั้น "ครู" เป็นพื้นที่สำหรับครู และทายาทครู ที่ SACICT ได้เชิดชูทุกคนจากทั่วประเทศ ให้ได้มาแสดงศักยภาพในผลงาน และฝีมือเป็นการเฉพาะ และถือเป็นงานที่จำหน่ายผลงานหัตถกรรมที่ใหญ่ที่สุด หรือสนใจติดตามได้ที่ www.sacict.or.th และ https://www.facebook.com/sacict/"