ในอดีตประเทศไทยถูกมองจากนานาอารยประเทศว่าเป็นประเทศที่มีการทารุณกรรมสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า สัตว์เศรษฐกิจ หรือสัตว์เพื่อการทดลอง ซึ่งมักจะพบเห็นข่าวจากสื่อมวลชนทั่วไป เช่น การบริโภคดีงู อุ้งตีนหมี หรือแม้แต่เนื้อสุนัขมาปรุงเป็นอาหาร ซึ่งมีการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่เสมอ ข่าวเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลกถึงสถานการณ์การทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทย จนทำให้นานาอารยประเทศถือเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ
จากเหตุผลดังกล่าวทำให้มีกลุ่มบุคคลที่มีความรักและเมตตาต่อสัตว์ เกิดความตั้งใจจริง ในอันที่จะหามาตรการยับยั้งป้องกันการทารุณกรรมสัตว์เหล่านั้น จึงได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย หรือ TSPCA (Thai Society for the Prevention of Cruelty to Animals) ขึ้น เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2537 และพ.ศ. 2540 สมาคมฯได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกกับราชสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งมีภาคีสมาชิกทั่วโลก เพื่อร่วมกันรณรงค์ป้องกันและยุติการทารุณสัตว์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย อีกทั้งสมาคมฯ ยังเป็นองค์กรด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จดทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2540 ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และเป็นองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เมื่อ พ.ศ.2558 ปัจจุบันมีนายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ เป็นนายกสมาคมฯ
ตลอดเวลา 26 ปี ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ดำเนินการรณรงค์หาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทารุณสัตว์โดยสันติวิธี ด้วยการดำเนินงานในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และในด้านการเสริมสร้างจิตสำนึกแห่งความเมตตาให้แก่เยาวชนและสาธารณชนโดยทั่วไป ให้มีส่วนร่วมในการสอดส่องป้องกันการทารุณสัตว์ และมีบทบาทในการรณรงค์แก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิสัตว์ ด้วยการแก้ปัญหาตามแนวทางสันติวิธี สำหรับกิจกรรมความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม อาทิ เช่น ด้านกฎหมาย สมาคมฯ เป็นผู้นำภาคประชาชนในการเสนอและผลักดัน พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 จนสำเร็จ ด้วยเจตนารมณ์ตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งสมาคมฯ เพื่อต้องการให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมและการพัฒนาการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ดี ดังเช่นนานาอารยประเทศ ซึ่งจะเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเมื่อนายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมฯ ในขณะนั้น ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 12,000 รายชื่อ ยื่นเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอให้มีกฎหมาย จึงนับว่าเป็นร่างกฎหมายภาคประชาชนเพียงร่างเดียวที่ผ่านรัฐสภา และผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนที่สำคัญที่สุด ประกอบด้วย องค์กรเครือข่ายภาคเอกชนที่เป็นพันธมิตร กรมปศุสัตว์และสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งประชาชนผู้รักสัตว์โดยทั่วไป ร่วมกันผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าวได้สำเร็จ อีกทั้งสมาคมฯ มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ อันเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ร่วมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานด้านต่าง ๆ ในการผลักดันกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายลำดับรองอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ด้านการศึกษา สมาคมฯ ถือเป็นองค์กรภาคเอกชนองค์กรแรก ที่ได้จัดกิจกรรมปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชน ผ่านกิจกรรมโครงการรักสัตว์ในโรงเรียน ตั้งแต่ปี 2545 และจัดกิจกรรมลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นการพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งสมาคมฯ ยังได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
สำหรับด้านกิจกรรมการรณรงค์ป้องกัน สมาคมฯ ได้ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการขอมติมหาเถรสมาคม ที่ 410/2561 ในการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการปล่อยสัตว์ในวัด จนเป็นผลสำเร็จ โดยกำหนดให้เขตพื้นที่วัดเป็นเขตห้ามซื้อขาย และปล่อยสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร อีกทั้งสมาคมฯ ได้จัดทำภาพยนตร์สั้นรวมทั้งได้การจัดกิจกรรมรณรงค์อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น "ทำบุญ ไม่ทารุณสัตว์" "ปล่อยนก บุญหรือบาป?" และ "รักไม่ปล่อย" และยังได้ร่วมกับ สวนสัตว์และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมวันเด็ก "สัญญาไม่ทารุณสัตว์" ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 แล้ว ด้านการให้บริการหรือสงเคราะห์สัตว์เพื่อการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัดิภาพสัตว์อย่างยั่งยืน ในปี 2562 ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้ จัดให้มีการติดตามข้อร้องเรียน จำนวน 89 เรื่อง และลงพื้นที่ช่วยเหลือสัตว์ในกรณีต่าง ๆ จำนวน 18 ครั้ง ติดตามและแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย Hot Issue ประเด็นเหตุการณ์เกี่ยวกับสัตว์ที่ประชาชนให้ความสนใจ จำนวน 29 เรื่อง รวมทั้งมีการสงเคราะห์สัตว์ตามบ้านหรือสถานพักพิงสัตว์ทั่วประเทศกว่า 25 แห่ง ซึ่งมีสัตว์จรจัด ประมาณ 5,416 ตัว แบ่งเป็นสุนัข 4,276 และแมว 1,140 ตัว โดยสมาคมฯ ได้สนับสนุน ข้าวสาร 13,255 กิโลกรัม อาหารสุนัขแบบเม็ดจำนวน 1,586.85 กิโลกรัม อาหารสุนัขแบบกระป๋อง จำนวน 2,400 กระป๋อง เนื้อไก่ จำนวน 2,400 กิโลกรัม และช่วยเหลือด้านยาและเวชภัณฑ์อื่น ๆ สำหรับอาหารนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการจัดซื้อจากเงินที่ผู้บริจาคร่วมสนับสนุนให้กับสมาคมฯ และส่วนหนึ่งมีองค์กรอื่นให้การสนับสนุนผ่านสมาคมฯ เช่น บริษัท เพอร์เฟค คอมพาเนียน กรุ๊ป จำกัด บริษัท เซนทรัล เจดี คอมเมิรซ์ จำกัด บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด โรงเรียนนานาชาติไบร์ทสกายและสมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น
ในด้านความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สมาคมฯ จัดให้มีการสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ขึ้นประจำทุกปี อย่างต่อเนื่องมากว่า 11 ครั้ง โดยเครือข่ายของสมาคมฯ มีทุกภูมิภาคของประเทศ กว่า 90 องค์กร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ วิธีการทำงาน ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะร่วมกันพัฒนาและสอดส่องป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ได้อย่างทันสถานการณ์ และสมาคมฯ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจรักสัตว์ เข้าร่วมกิจกรรมหรือเป็นสมาชิกและ "อาสาสมัครสวัสดิภาพสัตว์" ซึ่งมีเครือข่ายเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย ในส่วนด้านการอนุรักษ์และคุ้มครองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ นอกจากสมาคมฯ เป็นองค์กรด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายและยังได้ร่วมมือกับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งมีภาคีเครือข่ายทั่วโลก ในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ที่ผ่านมาสมาคมฯ โดย น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมฯ นายสัตวแพทย์อาวุโสผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ป่าและช้าง ได้ตรวจรักษาช้าง ที่ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องทุกเดือน สำหรับปี 2562 ได้ตรวจรักษาช้างทั้งสิ้นประมาณ 180 เชือก เป็นจำนวน 985 ครั้ง คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,877,000 บาท และรองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร อุปนายกสมาคมฯ ได้รับรางวัลระดับโลก "WORLD VETERINARY ASSOCIATION ANIMAL WELFARE AWARDS 2019" "สัตวแพทย์ไทย หนึ่งในสวัสดิภาพสัตว์โลก" อีกด้วย
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) จะยังคงมุ่งมั่น ดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามแนวทางสันติวิธี โดยใช้กระบวนทางกฎหมายในการขับเคลื่อนการทำงานอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดคุณค่า คุณธรรมและคุณประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศชาติ ในการช่วยเหลือดูแลสรรพสัตว์น้อยใหญ่ไม่ให้ได้รับการทารุณกรรมอย่างไม่สมควรและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ให้ยั่งยืนสืบต่อไป
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit