โรงงานน้ำตาลทราย โชว์ผลผลิตอ้อยช่วงเริ่มต้นฤดูการหีบปี 62/63 ชี้อ้อยไฟไหม้ยังต้องเร่งแก้ไข

30 Jan 2020
โรงงานน้ำตาลทราย โชว์ข้อมูลการรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิต 62/63 ช่วงโค้งแรกรวม 22 วัน หลังเริ่มเปิดหีบรับผลผลิตตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 62 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 16.41 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 14.90 ล้านกระสอบ และมีค่าความหวานเฉลี่ย 11.75 ซี.ซี.เอส. เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นในปีนี้ช่วยหนุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ระบุปัญหาอ้อยไฟไหม้ยังสูงอยู่ เร่งให้บริการตัดอ้อยสดแก่ชาวไร่คู่สัญญา หวั่นมีรายได้ลดลง
โรงงานน้ำตาลทราย โชว์ผลผลิตอ้อยช่วงเริ่มต้นฤดูการหีบปี 62/63 ชี้อ้อยไฟไหม้ยังต้องเร่งแก้ไข

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า หลังจาก คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบวันเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2562/63 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยหลังจากเริ่มรับผลผลิตมาแล้ว 22 วัน มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบรวม 16.41 ล้านตันอ้อย ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมีอ้อยเข้าหีบ 9.84 ล้านตัน สามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้ 8.10 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) เพิ่มขึ้น 6.80 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับระยะเวลาหีบอ้อยเท่ากันของฤดูการผลิตปีก่อน ปัจจัยมาจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย โดยหลายพื้นที่เจอปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยของชาวไร่ได้รับความเสียหายบางส่วน อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพอากาศเดือนธันวาคมปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนการจัดเก็บผลผลิตที่มีความหนาวเย็นกว่าในรอบหลายปี ทำให้อ้อยสามารถสร้างค่าความหวานได้ดี โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11.75 ซี.ซี.เอส. เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 11.10 ซี.ซี.เอส.

ส่วนสถานการณ์ปัญหาอ้อยไฟไหม้ในช่วงแรกของฤดูการหีบปีนี้ ยอมรับว่า โรงงานน้ำตาลทรายทุกโรงยังมีความเป็นห่วงอย่างมาก โดยยังมีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบสูงถึง 7.43 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 45.25% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบในช่วงแรก แม้ว่า ภาครัฐและผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายพยายามรณรงค์อย่างเต็มที่เพื่อให้ชาวไร่จัดเก็บอ้อยสดเพื่อหีบสกัดเป็นน้ำตาลทราย รวมถึงมีมาตรการลงโทษทั้งการหักเงินค่าอ้อยตันละ 30 บาท หรือรับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 50% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบ แต่ก็ยังไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ดังนั้น โรงงานน้ำตาลยังยืนยันว่า การรับซื้อใบอ้อยสดจากชาวไร่จะช่วยสร้างแรงจูงใจในให้แก่ชาวไร่และการให้บริการรถตัดอ้อยเพื่อจัดเก็บผลผลิตให้แก่ชาวไร่คู่สัญญาจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า แม้จะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณรถตัดอ้อยที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ภาครัฐจึงควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ชาวไร่และโรงงาน เพื่อนำไปจัดหาเครื่องจักรตัดอ้อยเพิ่มเติม

"โรงงานน้ำตาลทุกโรงและหน่วยงานภาครัฐจะเร่งดำเนินการทำความเข้าใจกับชาวไร่ถึงผลกระทบจากอ้อยไฟไหม้ ซึ่งทำให้ยิลด์ผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย และค่าความหวานก็ลดลง แถมต้องเสียค่าปรับตันละ 30 บาท สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อรายได้ของชาวไร่เอง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาอ้อยตกต่ำ ดังนั้น เพื่อให้ชาวไร่มีรายได้ที่ดีขึ้นควรตัดอ้อยสดส่งโรงงาน และจัดการใบอ้อยค้างไร่ เพื่อขายให้โรงงานนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้แก่ชาวไร่ได้อีกทางหนึ่ง" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

HTML::image(