นอกจากนี้ ฟิทช์ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long Term Rating) หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ SCC – ชุดที่ 1/2563 มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 – ที่ระดับ 'A+(tha)' เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของ SCC และหุ้นกู้ดังกล่าวมีความด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้าง (Structural Subordination) อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากจำนวนหนี้สินที่มีหลักประกันและหนี้ที่มีลำดับสิทธิสูงกว่าของบริษัทในกลุ่ม SCC มีอยู่ในระดับที่จำกัด
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความเสี่ยงจากอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากธุรกิจเคมิคอลส์ที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายลงทุนที่มีภาระผูกพัน (Committed Capex) ที่อยู่ในระดับสูงในช่วงสามปีข้างหน้า น่าจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของ SCC เพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่เกิน 3.0 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันของบริษัทฯ ในช่วงที่มีการลงทุนขยายธุรกิจ แผนการเพิ่มทุนผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ซึ่งได้มีการยื่นคำขอต่อสำานักงาน ก.ล.ต. แล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2562 นั้น น่าจะช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ในช่วงที่มีการใช้เงินลงทุนสูง และทำให้อัตราส่วนหนี้สินฯ ของบริษัทฯ กลับมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตได้ โดยผลสำเร็จของแผน IPO และการใช้เงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนดังกล่าวเพื่อชำระหนี้หรือเพื่อการลงทุนต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยที่กำหนดอัตราการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ในช่วงหนึ่งถึงสามปีข้างหน้า
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
กระแสเงินสดจากธุรกิจเคมิคอลส์ที่อ่อนแอลง – ธุรกิจเคมิคอลส์ที่อ่อนแอลงอย่างรุนแรงมากกว่าที่คาด น่าจะส่งผลให้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) ของ SCC ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.0-5.5 หมื่นล้านบาทต่อปี จากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 6.0-6.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2563-2564 (ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 6.3 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับจีน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเคมิคอลส์ที่อ่อนแอลงน่าจะได้รับการชดเชยจากการเติบโตของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจแพคเกจจิ้งของบริษัทฯ ซึ่งน่าจะส่งผลให้รายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ ยังคงเติบโตในอัตราร้อยละ 3-4 ในปี 2563
การฟื้นตัวเล็กน้อยของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและกระแสเงินสดที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายธุรกิจแพคเกจจิ้งช่วยลดผลกระทบจากธุรกิจเคมิคอลส์ที่อ่อนแอลงในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2562 ส่งผลให้ EBITDA ลดลงในอัตราร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลประกอบการของธุรกิจเคมิคอลส์ยังคงอ่อนแอต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 เนื่องจากการปรับตัวลดลงของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ฟิทช์คาดว่าความต้องการสินค้าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากความตึงเตรียดทางการค้าโลกที่ผ่อนคลายและราคาน้ำมันดิบที่ลดลงในช่วงสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของธุรกิจเคมิคอลส์ยังคงถูกกดดันจากอุปทานในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มโพลีโอเลฟินส์
อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง – ฟิทช์คาดว่า FFO adjusted net leverage ของ SCC จะเพิ่มขึ้นและคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3.0 เท่า ในปี 2563-2565 (อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 2.9 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562) ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายลงทุน (Committed Capex) ที่สูงกว่า 17.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2563-2566 โดยส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนสำหรับโครงการปิโตรเคมีที่เวียดนาม (Long Son Petrochemicals: LSP) ซึ่งจะยังไม่สร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจนกระทั่งปี 2566 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงนี้อาจลดลงได้ หากบริษัทฯ นำเงินที่ได้รับจากการ IPO ไปชำระหนี้
การกระจายความเสี่ยงในธุรกิจที่หลากหลาย – อันดับเครดิตของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ในด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และในทางภูมิศาสตร์ สำหรับธุรกิจหลักของบริษัทฯ ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การกระจายความเสี่ยงดังกล่าวส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ มีความสม่ำเสมอมากขึ้น ซึ่งรวมถึงภาวะอุตสาหกรรมขาลงของธุรกิจเคมิคอลส์ในรอบนี้ ที่บริษัทฯ สามารถบรรเทาผลกระทบบางส่วนได้จากการเติบโตของธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในอดีตที่ผ่านมา ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่งได้ช่วยชดเชยผลกระทบจากวัฏจักรขาลงของธุรกิจเคมิคอลส์ในช่วงปี 2554-2555 ในขณะที่ผลกำไรจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ลดลงในช่วงปี 2558-2561 ได้รับการชดเชยจากวัฏจักรธุรกิจขาขึ้นของธุรกิจเคมิคอลส์และการขยายตัวของธุรกิจแพคเกจจิ้ง
ธุรกิจหลักทั้งหมดของ SCC มีการกระจายตัวในหลายประเทศในอาเซียน ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนรายได้จากการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20-25 ในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า (ปี 2561 ประมาณร้อยละ 15) โดยได้รับการสนับสนุนจากผลประกอบการของโรงงานปูนซีเมนต์ในอาเซียนที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการขยายกำลังการผลิตของธุรกิจแพคเกจจิ้งในอาเซียน นอกจากนี้ SCC ยังมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 24 ของรายได้รวมในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2562
สถานะความเป็นผู้นำตลาด – SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อันดับเครดิตของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดย SCC มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในหลายประเทศในอาเซียน สำหรับกลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์
ความผันผวนของธุรกิจ – อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการที่ SCC ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจเคมิคอลส์ ทั้งนี้ SCC มีอำนาจในการกำหนดราคาที่จำกัด เนื่องจากสินค้าหลักส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งถูกกำหนดราคาโดยอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC, 'A(tha)'/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งอยู่ในธุรกิจวัสดุก่อสร้าง โดย SCC มีส่วนแบ่งทางการตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่า สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าของ SCC ซึ่งเป็นผลจากขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่ามาก และมีการกระจายความเสี่ยงในหลากหลายธุรกิจ ทำให้ SCC มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC หนึ่งอันดับ แม้ว่า SCC จะมีอัตราส่วนหนี้สินสูงกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้ ทั้งสองบริษัทมีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ ซึ่งสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง อันเป็นผลจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอลงและแผนการลงทุนขนาดใหญ่
เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิต 'AA+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ, อันดับเครดิตโดยลำพัง 'aa-(tha)') ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจที่หลากหลายกว่า ซึ่งทำให้ SCC มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม PTTGC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า จึงมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCC
สมมุติฐานที่สำคัญ
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
ปัจจัยลบ:
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้: สภาพคล่องของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขโดยฟิทช์) จำนวนประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานในระดับประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน สภาพคล่องของ SCC ในช่วงสองปีข้างหน้ายังต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากภายนอกเนื่องจากแผนค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง อย่างไรก็ตาม SCC ได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากสถาบันการเงินสำหรับโครงการลงทุนหลักแล้ว
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 บริษัทฯ มีหนี้สินทั้งหมดจำนวน 2.2 แสนล้านบาท โดยร้อยละ 84 เป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ในสกุลเงินบาท และประมาณร้อยละ 30 ของหนี้สินทั้งหมดจะถึงกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit