รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงมัลลิกา ชมนาวัง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะฯ มีพันธกิจหลักในการผลิตและเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นศูนย์กลางให้บริการวิชาการด้านยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหารที่มีมาตรฐานในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดศูนย์บริการประชาชน ทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาต่างๆ เช่น ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน จำนวน 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทางผิวหนัง (MUPY-DTC) และศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ (MUPY-CAPQ) อีก 3 ฝ่าย ได้แก่ เคมี สมุนไพร และจุลชีววิทยา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรวีรวัฒน์ ตีรณะชัยดีกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรองหัวหน้าศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทางผิวหนัง (MUPY-DTC) กล่าวว่า เครื่องสำอางเป็นสินค้าที่มีบทบาทมากในปัจจุบัน โดยเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่จะซื้อสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตจากต่างประเทศ และยังขาดแคลนหน่วยงานของรัฐในการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสากล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดตั้ง ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทางผิวหนัง (MUPY-DTC) ขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้บริการประชาชนใน 4 ด้าน คือ การทดสอบประสิทธิภาพเครื่องสำอาง ทั้งในเรื่องการลดเลือนริ้วรอย และการเพิ่มความขาวใส อีกทั้งทดสอบความปลอดภัย เพื่อประเมินการแพ้และการระคายเคือง โดยมีการทดสอบทั้งในอาสาสมัคร และในหลอดทดลอง จากเนื้อเยื่อผิวหนังมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ และทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์กันแดดอีกด้วย ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้กับประชาชนผ่านสื่อต่างๆ โดยในอนาคตจะมีการยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการให้สามารถทดสอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทางผิวหนังที่ขยายขอบเขตเพื่อตอบโจทย์ที่ครอบคลุมความต้องการของประชาชนต่อไป เปิดให้บริการ ณ อาคารวิจัยประดิษฐ์หุตางกูร ชั้น 3 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ (MUPY-CAPQ) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นศูนย์กลางในการให้บริการวิเคราะห์คุณภาพยา สมุนไพร และจุลชีววิทยาของเภสัชภัณฑ์เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีการนำนโยบายคุณภาพ Good Laboratory Practice (GLP) และ ISO/IEC 17025 มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการวิเคราะห์ การบริหารงานให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล
CAPQ เคมี เป็น CAPQ ฝ่ายแรกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงปิยนุช โรจน์สง่า หัวหน้าฝ่าย CAPQ เคมี เล่าว่า
ในระยะแรก CAPQ เคมี เปิดให้บริการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ยาเป็นหลัก ต่อมาได้ขยายขอบเขตให้บริการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และอาหารเสริมด้วย ซึ่งการวิเคราะห์ยาจะมีลักษณะเหมือนเป็นโมโนกราฟซึ่งไม่ได้เขียนรายละเอียดอะไรมากนักเพราะฉะนั้นผู้วิเคราะห์จะต้องมีประสบการณ์พอสมควรในการตีความ เพื่อที่จะนำไปสู่กระบวนการปฏิบัติได้จริง จึงเป็นที่มาว่าทำไมการวิเคราะห์ยาบางรายการถึงต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง และสารเคมีที่ใช้ก็จะต้องได้ตามมาตรฐาน ซึ่ง CAPQ เคมีเราสามารถทำได้ตรงตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ทั่วโลก
โดยในอนาคตจะมีการขยายงานไปในส่วนของการวิเคราะห์สารปนเปื้อนต่างๆ ในเภสัชภัณฑ์ และอาหารเสริมด้วย CAPQ เคมี เปิดให้บริการ ณ ห้อง 512 ชั้น 5 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ด้าน CAPQ สมุนไพร เกิดขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ด้านการส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยให้เกิดประโยชน์และยั่งยืน เมื่อประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงวีณา สาธิตปัตติพันธ์ หัวหน้าฝ่าย CAPQ สมุนไพร กล่าวว่า สมุนไพรไทยจะยั่งยืนได้ ก่อนอื่นจะต้องทำให้มีคุณภาพ ซึ่งสมุนไพรจะไม่เหมือนสารเคมีตรงที่คุณภาพของสมุนไพรจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องของฤดูกาล และขั้นตอนการเก็บเกี่ยว หากเราสามารถทำให้สมุนไพรไทยมีคุณภาพที่สม่ำเสมอ และยั่งยืนจะสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรจึงเป็นเรื่องสำคัญ CAPQ สมุนไพร เปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในผลิตภัณฑ์สมุนไพร ณ ห้อง 501 ชั้น 5 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มาที่ CAPQ จุลชีววิทยา หรือ CAPQ-MICRO ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรกฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี หัวหน้า CAPQ-MICRO กล่าวแนะนำว่า เป็นหน่วยงานที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยาของสมุนไพร ยาแผนโบราณ และเครื่องสำอางสมุนไพร ตลอดจนบริการให้ความรู้ทางวิชาการแบบ on site service ทั้งการบรรยายและการปฏิบัติ ซึ่งผลจากการตรวจวิเคราะห์สามารถนำเอาไปใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนได้ โดยใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ในรายการทั่วไป และ 6 สัปดาห์สำหรับรายการที่ต้องการการทดสอบประสิทธิภาพของสารกันเสียร่วมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรกฤษณ์ ได้แนะนำผู้บริโภคในการเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ปลอดภัยจากเชื้อปนเปื้อนว่า ที่สำคัญที่สุดให้ดูที่ตรา อย. และบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน และควรเก็บรักษาสมุนไพรในที่แห้งและอากาศถ่ายเท ซึ่งเชื้อก่อโรคไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ CAPQ-MICRO เปิดให้บริการ ณ ห้อง 401 ชั้น 4 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
MUPY-DTC และ MUPY-CAPQ เคมี/สมุนไพร/จุลชีววิทยา ดำเนินงานด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมั่นใจได้ว่าผลการวิเคราะห์และข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ถูกต้องแน่นอน จากผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้านการเรียนการสอน และการวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ระดับชาติและนานาชาติตลอดเวลา 52 ปีที่ผ่านมา
ผู้สนใจติดต่อได้ที่ โทร. 0-2644-8694 (MUPY-DTC) 0-2354-4320 (MUPY-CAPQ) www.pharmacy.mahidol.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit