28 พ.ย.62 (จังหวัดขอนแก่น) นายพัตทอง กิตติวัฒน์ อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ กิจกรรม "การพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการทางธุรกิจ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ให้ได้รับการพัฒนาเชิงลึกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน" ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง สู่ศูนย์กลางแฟชั่นระดับภูมิภาค ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หลังจากที่พัฒนาประสบความสำเร็จจนสร้างแบรนด์ต้นแบบ "มัดทอใจ" มรดกผ้าไทยร่วมสมัย" ที่ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา พร้อมนำไปจัดแสดงโชว์ในงานผ้าทออีสาน EXPO ที่ขอนแก่น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 มีการยังคงมุ่งเน้นพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชน ในกลุ่มสินค้าสิ่งทอเครื่องแต่งกายและผ้าไหม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ได้รับการพัฒนาเชิงลึกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ในการผลิตสินค้าและการประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด ด้านเทคโนโลยี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องแต่งกายและผ้าทอพื้นเมืองในรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต รวมทั้งไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญของทางสถาบันฯสิ่งทอ ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการผ้าไหมและบุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา สุรินทร์ สกลนคร โดยมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ หน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินงานหลักและ มีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นหน่วยร่วม โดยจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดแรกในการดำเนินโครงการปี 2563
นางทิพวรรณ พานิชการ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางในการดำเนินงานโครงการฯ ประกอบไปด้วย 2 กิจกรรมหลัก คือ
กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการทางธุรกิจ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องเครื่องแต่งกาย ให้ได้รับการพัฒนาเชิงลึกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 600 คน
กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องเครื่องแต่งกายและผ้าทอพื้นเมือง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต (Modern Heritage Thai Textile) ด้วยการออกแบบลวดลายผ้าไหมแบบใหม่เชิงสร้างสรรค์บนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม จำนวน 40 ผลิตภัณฑ์ โดยเน้นพัฒนาในด้าน ความเป็นไทย เรียบง่ายและสากล : การออกแบบลวดลายผ้าแบบใหม่บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม การเพิ่มมูลค่า : ผสมผสานเทคโนโลยีการตกแต่งสำเร็จสิ่งทอ และการรักษาสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาออกแบบตัดเย็บและสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 50% โดยสามารถพัฒนาสินค้าสนองตอบต่อความต้องการ พร้อมทั้งเชื่อมโยงด้านการตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง และตลาดต่างประเทศในระดับบน พร้อมตั้งเป้าผลักดันและพัฒนาผ้าทออีสานให้ทันสมัย รองรับศูนย์กลางแฟชั่นระดับภูมิภาค ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอนาคต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit