นางสาวสมจิณณ์ กล่าวต่อว่า เหตุผลสำคัญของการมาโรดโชว์ประเทศเยอรมัน นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนในบูธ Thailand Pavilion กนอ. จะพบลูกค้าที่ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับอุปกรณ์การแพทย์ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม New S-Curve โดยอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจรเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมที่มีความพร้อมจะขยายการลงทุนมายังประเทศไทย ประกอบกับ กนอ. มีความพร้อมเชิงพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยเฉพาะพื้นที่ EEC อาทิ นิคมอุตสาหกรรม Smart park ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการนำเสนอคณะกรรมการ กนอ. โดยคาดว่าจะนำเสนอ ครม. ได้ภายในมีนาคม 2563 เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการ ในขณะเดียวกัน กนอ. ได้ร่วมหารือกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ณ เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ถึงแนวทางเพื่อดึงดูดนักลงทุนสหพันธรัฐเยอรมนีโดยเน้นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร One Stop Services : OSS อนุมัติ อนุญาต ประกอบกิจการและอื่นๆ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในนิคมอุตสาหกรรมให้แก่นักลงทุนที่นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ
นอกจากนี้ กนอ. ยังได้เยี่ยมชมการบริหารจัดการ Innovation City Management ณ เมือง Bottrop สหพันธรัฐเยอรมนี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนาเมืองโดยใช้นวัตกรรมที่นำไปสู่ความยั่งยืน โดยการบริหารจัดการแบบองค์รวมในมิติต่างๆ เช่น มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งมิติทางสังคม เป็นต้น ดังนั้นการบริหารจัดการแบบ Innovation City จึงมีแนวคิดในพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมเมืองให้เป็นการพัฒนาแบบองค์รวมเพื่อการเป็นเมืองใหม่อย่างยั่งยืน (Innovation City) ที่มีองค์ประกอบ ได้แก่ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้นวัตกรรมผลิตวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเก็บกักพลังงาน และช่วยดูดซับก๊าซจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการพัฒนาแบบองค์รวมนี้จะช่วยลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) โดยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) อันจะเป็นการส่งเสริมการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันแบบยั่งยืน
จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ กนอ. จะนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการพัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม โดยคาดว่าในอนาคตจะสามารถบริหารจัดการใช้พลังงาน และทรัพยากรต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างมีดุลยภาพ ซึ่งแนวคิดนี้จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น และจะช่วยรักษาดุลยภาพสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรม และสังคมโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมได้ในระยะยาวต่อไป นางสาวสมจิณณ์ กล่าวโดยสรุป