อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นภาคการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร โดยข้อมูลจากสมาพันธ์อาหารและเครื่องดื่ม (FDF) ชี้ว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถทำเงินได้ถึง 28.2 พันล้านปอนด์ต่อปี และมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ถึง 400,000 คน โดยมูลค่าตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ฟาร์มจนถึงจานที่ถูกเสิร์ฟ มีจำนวน 110 พันล้านปอนด์ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของสหราชอาณาจักร ดังนั้นสหราชอาณาจักรจึงมุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมการยกระดับอุตสาหกรรม ผ่านความร่วมมืออันแข็งแกร่งระหว่างภาคการศึกษา และภาคเอกชน ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เนื่องจากเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นอุตสาหกรรมที่ยืดหยุ่นและปรับตัวได้ ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะไปสู่โอกาสเหล่านี้ คือการรู้จักควบคุมศักยภาพการเติบโต ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ผ่านการนำศาสตร์การคาดการณ์อนาคตอุตสาหกรรมอาหารมาประยุกต์ใช้
ศาสตราจารย์โรนัลด์ คอร์สตานจ์ หัวหน้าศูนย์สารสนเทศการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ กล่าวว่า ศาสตร์การคาดการณ์อนาคตอุตสาหกรรมอาหาร (Foresight for Food) คือวิธีคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีก 10 – 15 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมพร้อมวิธีการรับมือ และแก้ปัญหา อาทิ สภาพแวดล้อม อุปสงค์ อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารที่จะเกิดขึ้น ฃึ่งม.แครนฟิลด์เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นในศาสตร์การคาดการณ์อนาคต (Foresight) จากการพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมควบคู่กันไป โดยในปัจจุบัน ม.แครนฟิลด์ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมถึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์การคาดการณ์อนาคต และการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเป็นแผนแม่แบบและนำไปต่อยอดในภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ม.แครนฟิลด์ยังเดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้การวางแผนแม่แบบของตัวเองบนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยใช้หลักการดึงข้อมูล Big Data เพื่อนำมาคำนวณ คาดการณ์อนาคตได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อการออกแบบแผนแม่แบบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่านวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงภายใน 10 ปี
ศาสตราจารย์โรนัลด์ กล่าวเพิ่มว่า มหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "University-Industry Links" ของบริติช เคานซิล ประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคการศึกษา - อุตสาหกรรม แบ่งปันองค์ความรู้และรูปแบบศาสตร์การคาดการณ์อนาคต (Foresight) ให้กับเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) โดยทาง ม.แครนฟิลด์ ได้คัดเลือกขั้นตอนที่เหมาะสมกับบริบทการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทย ออกมาเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) จับกระแสหลากมิติ (Horizon Scanning) การดูบริบทโดยรอบ เพื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารที่กำลังเกิดขึ้น 2) ปักธงแนวคิด (Visioning) การกำหนดวิสัยทัศน์ว่าประเทศต้องการเดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารไปในทิศทางใด เพื่อให้สอดรับกับกระแสความต้องการของตลาดอาหารโลก 3) กำหนดทิศทาง (Roadmapping) การวางแผนแม่แบบจากข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในระยะยาว ซึ่งการกำหนดแผนแม่แบบจะทำให้สามารถประเมินศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน และรู้ถึงสิ่งที่ยังคงต้องพัฒนาให้ตอบโจทย์ตามเป้าหมาย และ 4) ประเมินหาโอกาสสู่อนาคต (Evaluation) การประเมินแผนแม่แบบที่สร้างขึ้นและถูกนำมาใช้ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการต่อยอดและปรับปรุง
ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้อำนวยการโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวเสริมว่า หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนแม่แบบแนวทางอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย สามารถสรุปออกมาเป็น 4 กลยุทธ์ของโรดแมปพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่
1) สร้างแพลตฟอร์มระดับชาติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและยั่งยืน
2) ลงทุนกับงานวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหารเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมไปถึงนวัตกรรมอาหารที่ทันสมัยและยั่งยืน
3) สร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอี จากระดับท้องถิ่นสู่ระดับนานาชาติ และ
4) ส่งเสริมภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของอาหารไทยในระดับนานาชาติ
"เมื่อประเทศมีเป้าหมายการเดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารที่ชัดเจน รู้จักเทรนด์ตลาดอาหารสากล และมีนวัตกรรมที่พร้อมรับมือกับปัญหาในอนาคต การพาครัวไทย สู่ครัวโลก ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป" ดร. อัครวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า สหราชอาณาจักรมีตัวอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมที่ชัดเจน อย่างเช่น ม.แครนฟิลด์ ที่ได้ทำงานร่วมกับ บริษัท โคคา-โคล่า (Coca-Cola Enterprises) เพื่อศึกษาหาข้อมูลด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในสหราชอาณาจักร โดยได้ใช้ศาสตร์การมองอนาคตเพื่อประเมินถึงรูปแบบของโรงงาน และภาคการผลิตในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า สหราชอาณาจักร อยู่ในประเทศแนวหน้า 10 อันดับที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและเอกชน จนสามารถนำองค์ความรู้มาต่อยอดและใช้ได้จริงในการยกระดับอุตสาหกรรม จากข้อมูลของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum 2019)
อุตสาหกรรมอาหาร เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญของไทย ที่ได้รับการผลักดันมาอย่างยาวนาน เนื่องด้วยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในการผลิตเพื่อบริโภค และส่งออก ด้วยความสามารถในการผลิตวัตถุดิบประกอบอาหาร ทั้งจากผลิตผลในภาคการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง รวมถึงการแปรรูปอาหาร อย่างไรก็ดี ปัจจัยการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย ไม่ใช่เพียงแค่การคำนึงถึงประสิทธิภาพของการใช้เทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล หากแต่การมองไปยังอนาคต รู้จักการเตรียมพร้อม เพื่อปรับตัวรองรับสถานการณ์ด้านอาหาร และเทรนด์ของผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลดิเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเพื่อแข่งขันในระดับนานาชาติ ก็ถือเป็นการปรับตัวก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารไทยเช่นกัน มร.แอนดรูว์ กล่าวสรุป
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ บริติช เคานซิล ประเทศไทย โทร. 02-657-2211 และเว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th
เกี่ยวกับบริติช เคานซิล
บริติช เคานซิล คือ องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร เราทำงานกับประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกผ่านงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ การศึกษา และภาคประชาสังคม ในปีที่ผ่านมาเราสื่อสารโดยตรงกับผู้คนมากกว่า 80 ล้านคน และสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์กับผู้คนกว่า 791 ล้านคน เราสร้างประโยชน์แก่ประเทศที่เราทำงานด้วยผ่านทรัพยากรทางวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นโดยการสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน บริติช เคานซิล ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้พระบรมราชานุญาตและพระราชบัญญัติองค์การอิสระแห่งสหราชอาณาจักร เราได้รับเงินสนับสนุนร้อยละสิบห้าโดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit