1.1 ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดหยุดออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง มาเพิ่มเติมขึ้นอีก (ยกเว้นการออก กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่ผ่อนคลายปัญหาให้กับชาวประมง)
ปัจจุบันไม่ได้มีการออกกฎหมายที่สร้างภาระแก่ชาวประมงเพิ่มเติม มีแต่การออกกฎหมายลำดับรองที่ส่งเสริมต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง เช่น การจะออกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และการออกประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาระบบติดตามเรือประมงของเรือประมงพาณิชย์ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ โดยมีเหตุยกเว้นให้สามารถปิดสัญญาณระบบติดตามเรือประมงสามารถทำได้ 4 กรณี
1) กรณีเรือประมงเกิดการชำรุดต้องซ่อมแซมโดยนำเรือประมงขึ้นคาน เข้าอู่ซ่อมเรือ หรือซ่อมแซมที่ท่าเทียบเรือประมง
2) กรณีอุปกรณ์ติดตามเรือประมงชำรุดอยู่ระหว่างซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอุปกรณ์
3) กรณีเรืออับปาง
4) กรณีได้แจ้งงดใช้เรือต่อกรมเจ้าท่า (ชั่วคราว)
1.2 ขอให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเร่งด่วนในช่วงที่มีการประชุมสภานิติบัญญัตินี้
ในการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการประมง ตามข้อเรียกร้องของชาวประมง กรมประมงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายตามประเด็นที่ชาวประมงเสนอ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของคณะทำงาน โดยให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง โดยดำเนินการยกร่างการแก้ไขกฎหมายประมงและเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณา ซึ่งประเด็นตามข้อร้องเรียน ประกอบด้วย ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงพื้นบ้าน จำนวน 3 มาตรา และข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงพาณิชย์ จำนวน 15 มาตรา และขณะนี้คณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร กำลังพิจารณาเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงยกร่างกฎหมายประมงเช่นกัน
1.3 ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการการซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลมีการตั้งงบประมาณจำนวน 1 หมื่นล้าน ในปีงบประมาณ 2563 ในการที่จะนำเรือประมงออกนอกระบบ
1. กรมประมงได้ดำเนินการนำเรือประมงออกนอกระบบตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการดำเนินการโครงการการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน)
ผลการดำเนินการ
ปีงบประมาณ 2563 นำเรือประมงส่วนที่เหลือออกนอกระบบจำนวน 53 ลำ งบประมาณ 294,850,200 บาท รอการจัดสรรงบประมาณปี 2563 เมื่อได้รับแล้วจะเร่งดำเนินการต่อไป
2. กรมประมงได้จัดทำโครงการการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ระยะที่ 2 โดยนำเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐและ/หรือมีความประสงค์จะเลิกอาชีพทำการประมง จำนวน 2,768 ลำ งบประมาณค่าใช้จ่ายในการชดเชยเรือประมง 7,143,847,900 บาทขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
1.4 ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงในโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวประมงโดยเร่งด่วน ภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย โดยในคราวประชุมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อฯ นั้น กรมประมงได้ดำเนินการจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยมีสาระสำคัญของโครงการ ดังนี้
1. เป้าหมาย
สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน วงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาท โดยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 2 แหล่ง ประกอบด้วย
1.1 เรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป วงเงินสินเชื่อ จำนวน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน
1.2 เรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส วงเงินสินเชื่อ จำนวน 5,300 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
2. ระยะเวลาดำเนินการ
2.1 ระยะเวลาโครงการ 8 ปี นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการ
2.2 ระยะเวลาการยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 1 ปี หรือภายในกรอบวงเงินสินเชื่อตามที่กำหนด
2.3 กำหนดชำระคืนเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปี นับตั้งแต่วันที่กู้
3. การดำเนินการ
ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้ผู้ประกอบการประมงกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี และผู้ประกอบการประมงสมทบร้อยละ 4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี นับตั้งแต่วันที่กู้ ขณะนี้รองนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบการนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามถึงสำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรีแล้ว
1.5 ขอให้กรมประมง กรมจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการอนุญาตให้ใช้กฎหมาย มาตรา 83 แห่ง พรก.การประมง พ.ศ. 2558 ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงโดยเร่งด่วน ภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้
กรมประมงได้นำแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมง โดยใช้มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเสนอกระทรวงแรงงานไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 พร้อมทั้งขอความเห็นชอบจากหน่วยงานกระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานทางด้านความมั่นคง (กองทัพเรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) และกระทรวงแรงงานได้ให้ความเห็นชอบมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 กรมประมงจึงได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาและที่ประชุมมีมติ ดังนี้
1. มติเห็นชอบการดำเนินการตามมาตรา 83 กรณีพิเศษ มีข้อกำหนดว่า
(1) ต้องเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย ได้แก่ กลุ่มคนต่างด้าวที่มีหนังสือผ่านแดน (Border Pass) หรือคนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราโดยมีรอยตราประทับตรวจหนังสือเดินทางขาเข้าที่ระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดลงแต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร (Overstay)
(2) ต้องเป็นคนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเอกสารดังกล่าวยังไม่หมดอายุ
2. กรอบการดำเนินการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงาน จำนวน 2 รอบ โดยรอบที่ 1 ระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม 2563 – มีนาคม 2563) เว้น 3 เดือน รอบที่ 2 ระยะเวลา 3 เดือน (กรกฎาคม 2563 – กันยายน 2563)
3. กรมประมงดำเนินการเสนอต่อกระทรวงแรงงาน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) พิจารณาดำเนินการต่อไป
4. คาดว่าสามารถพิจารณาดำเนินการได้ ภายในเดือนธันวาคม 2562
1.6 ขอให้ยกเลิก แก้ไข กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงที่เป็นอยู่โดยเร็ว
ด้วยกฎกระทรวง คุ้มครองแรงงานในประมงทะเล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ข้อ 10/2 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในแรงงานประมงทะเล โดยผ่านธนาคารของลูกจ้าง โดยนายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการโอนเงินเข้าบัญชีของลูกจ้าง โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกประกาศ กำหนดแบบสัญญาจ้างลูกจ้างในงานประมงทะเลให้ นายจ้างตกลงจ่ายค่าตอบแทนโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของลูกจ้างตามที่ตกลงในสัญญา เพื่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานในภาคการประมง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ตามที่ได้มีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานในภาคการประมง ได้มีการบัญญัติกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานในภาคการประมง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เลื่อนสถานะของไทยในรายงานการค้ามนุษย์จากระดับ TIER 3 ขึ้นสู่ระดับ TIER 2 ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2561 โดยปี 2557 – 2558 ไทยอยู่ในระดับ TIER 3 ปี 2559 – 2560 ไทยอยู่ในระดับ TIER 2 Watch list และปี 2561 ไทยได้รับการยกระดับขึ้นมาเป็น TIER 2 และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และได้ปลดใบเหลืองในการแก้ไขปัญหาการประมง IUU ส่งผลให้นานาประเทศเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการประมงทำการประมงในประเทศไทยปราศจากใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ด้านการประมง ซึ่งการจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคาร ถือเป็นหลักฐานให้กับผู้ประกอบการว่ามีการจ่ายค่าจ้างจริงตามที่กฎหมายกำหนด และส่งผลดีต่อแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นที่จับตามองของนานาประเทศ ภาคประชาสังคม รวมถึงNGO ทำให้มั่นใจได้ว่าแรงงานต่างด้าวไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประชาคมโลก ลดการกีดกันทางการค้า เป็นการสนับสนุนการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังนานาประเทศอย่างไรก็ตาม ตามประเด็นนี้ จะได้หารือกระทรวงแรงงานเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติต่อไป
1.7 เรือประมงที่มีขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส ไม่ควรมีนโยบายให้ติด VMS เช่น การชักชวนให้เรือประมงขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส ทดลองติดVMS ฟรี ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 81 (1) กำหนดให้เจ้าของเรือที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยประเภทการใช้ทำการประมงและมีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องดำเนินการ ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งรัฐมนตรีได้กำหนดให้เจ้าของเรือที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยประเภทการใช้ทำการประมงและมีขนาดตั้งแต่สามสิบตันกรอสขึ้นไปซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ต้องดำเนินการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าว สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด ส่วนเรือขนาดตั้งแต่ 10-29.99 ตันกรอสนั้น ณ เวลานี้ กรมประมงยังไม่มีนโยบายในการติดตั้งหรือทดลองใช้
1.8 ขอให้หยุดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยทันที ด้วยเหตุผล ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามพระราชกำหนด พ.ศ. 2558 มาตรา 92 ซึ่งการนำเข้าสัตว์น้ำจะต้องมีการตรวจสอบว่าสัตว์น้ำเหล่านั้นได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามมาตรา 92 วรรคสองและวรรคสาม สินค้าประมงจากต่างประเทศจึงเข้ามาถล่มตลาดสินค้าสัตว์น้ำของชาวประมงที่ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้ต้นทุนสูงกว่า ราคาจึงตกต่ำ เพราะมีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำแบบเสรี ไร้การควบคุม มาสต๊อกไว้เต็มห้องเย็นไปหมดแล้ว ดังนั้นจึงต้องแก้ไขระเบียบกรมประมงเดิมที่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเข้าสัตว์น้ำได้เสรี มีมาตรการปกป้องสินค้าสัตว์น้ำภายในประเทศ
กรมประมงใช้ระบบสำหรับควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ โดยด่านตรวจสัตว์น้ำ ทั่วประเทศ จำนวน 27 แห่ง ที่จะตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้ถูกต้องตามใบอนุญาต และ ตามมาตรฐานสากล ดังนี้
1. การนำเข้าโดยเรือประมง เรือขนถ่ายหรือเรือขนส่งสัตว์น้ำเป็นการเฉพาะต้องแสดงสำเนาแบบ รายงานผลการตรวจเรือหรือใบรับรองการจับสัตว์น้ำ และใบกำกับการซื้อขายหรือใบตราส่งสินค้าทะเล
2. การนำเข้าทางบก อากาศ และอื่น ๆ ต้องแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำหรือสำเนาการแจ้ง นำสินค้าออกจากต้นทาง หรือสำเนาใบสินค้าขาออกหรือใบรับรองให้ส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ และใบกำกับการซื้อขาย และใบตราส่งสินค้าทางอากาศหรือใบตราส่งสินค้าทางทะเล (ถ้ามี)
โดยในส่วนของการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำทางชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น กรมประมงได้มีการเจรจาและสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับเอกสารประกอบการนำเข้า รวมถึงการตรวจสอบเรือประมงต่างประเทศ และสัตว์น้ำขึ้นท่าตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า
1.9 ขอให้พิจารณาเพิ่มวันทำการประมงให้กับพี่น้องชาวประมงทั้งประเทศโดยเร่งด่วน เพราะทำให้เกิดปัญหาการประกอบอาชีพขาดทุนมา 4 - 5 ปีแล้ว เนื่องจากมีการกำหนดให้ทำการประมงได้ไม่ทั้งปี แต่ต้องมีรายจ่ายค่าแรงงานตลอดทั้งปี
การออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ยึดถือหลักการตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งคือ มีการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และหลักการป้องกันล่วงหน้าเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน หลักการสำคัญในการออกใบอนุญาตทำการประมงคือ ต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการผลิตของธรรมชาติโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาจุดอ้างอิง เพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และประชาชนมีแหล่งอาหารได้ตามสมควร
กรมประมงใช้ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield : MSY) เป็นจุดอ้างอิงของทรัพยากรสัตว์น้ำในการออกใบอนุญาตทำการประมง การประเมิน MSY แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสัตว์น้ำได้แก่ สัตว์น้ำหน้าดิน ปลาผิวน้ำ และปลากะตัก เนื่องจากจำนวนเรือประมงในปัจจุบันมีมากกว่าระดับที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (Overcapacity) กรมประมงจึงต้องควบคุมระดับการทำการประมงไม่ให้เกินระดับที่ให้ผลผลิตสูงสุดอย่างยั่งยืน หากไม่มีการควบคุมระดับการทำการประมงจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากร ทำให้สัตว์น้ำรุ่นใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้นมาทดแทนได้ทันกับปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกจับไปเป็นปริมาณมากเกินควร ส่งผลให้ทรัพยากรประมงอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม
วิธีการควบคุมระดับการทำการประมงคือ การกำหนดจำนวนวันทำการประมงของเครื่องมือทำการประมงประสิทธิภาพสูงตามจุดอ้างอิงของทรัพยากร โดยจำนวนวันทำการประมงฝั่งอ่าวไทยของเครื่องมือทำการประมงกลุ่มสัตว์น้ำหน้าดิน (อวนลาก) เท่ากับ 240 วันต่อปี กลุ่มปลาผิวน้ำ (อวนล้อมจับ) 240 วันต่อปี และกลุ่มปลากะตัก (อวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบปลากะตัก และอวนช้อน/ยกปลากะตัก) 255 วันต่อปี และฝั่งทะเลอันดามัน กลุ่มสัตว์น้ำหน้าดิน 270 วันต่อปี กลุ่มปลาผิวน้ำ 255 วันต่อปี และกลุ่มปลากะตัก 225 วันต่อปี
การเพิ่มวันทำการประมงในปีที่ผ่านมา กรมประมงก็มีการนำทรัพยากรสัตว์น้ำที่จัดสรรให้เรือประมงแต่ชาวประมงไม่ได้ออกทำการประมง มาคำนวณและจัดสรรเพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมงที่ทำการประมงอยู่และมีวันทำการประมงเหลือน้อยได้อีกจำนวนหนึ่ง โดยในปี 2560 และ 2561 ได้เพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมงอวนลากที่ทำการประมงทางฝั่งอ่าวไทยจำนวน 20 และ 24 วัน ตามลำดับ และเครื่องมือประมงอื่นให้ทำการประมงได้ตลอดทั้งปี ในการควบคุมวันทำการประมง กรมประมงควบคุมเฉพาะเรือประมงที่ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น อวนลาก (ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ และอวนลากคานถ่าง) อวนล้อมจับ อวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบ/ช้อน/ยกปลากะตัก ส่วนเรือประมงที่ใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพต่ำไม่ถูกควบคุมวันทำการประมง ดังนั้นจึงมีเรือประมงพาณิชย์ที่ถูกควบคุมวันทำการประมงจำนวน 5,302 ลำ จากจำนวนเรือประมงพาณิชย์ทั้งหมดจำนวน 10,645 ลำ
อย่างไรก็ตาม ในปีการประมง 2562 มีเรือประมงบางส่วนที่ได้รับการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำไว้แล้ว แต่ไม่ได้ออกทำการประมง ทำให้มีปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือที่ไม่ได้จับขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจนำสัตว์น้ำกลุ่มนี้มาจัดสรรเพื่อเพิ่มจำนวนวันทำการประมงได้ ขณะนี้กรมประมงกำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูลปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือ เพื่อนำมาจัดสรรเพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมงในปีการประมง 2562
1.10 ขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมัน บังคับให้ชาวประมง ต้องจ่ายเงินผ่านบัตรฟรีทการ์ด (Fleet Card) ซึ่งจะทำให้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงเพิ่มขึ้นทันที
คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ได้รับแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ประกอบด้วย อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นประธาน และมีผู้แทนของ กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า กรมธุรกิจพลังงาน กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองกำกับการตำรวจน้ำ และกรมประมง เป็นกรรมการ มีหน้าที่กำกับดูแลติดตามและประเมินผลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับเรือชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (24 ไมล์ทะเล) ของราชอาณาจักรหรือที่เรียกว่า โครงการน้ำมันเขียว เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติตามโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร อันจะเป็นการป้องกันการลักลอบการค้าน้ำมันเถื่อนในทะเลให้แก่เรือประมงและป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันเขียวเป็นน้ำมันเถื่อนจนอาจสูญเสียรายได้ของภาครัฐ
การดำเนินการซื้อขายน้ำมันและการบริการคือ มีเรือ Tanker ที่เข้าร่วมในโครงการฯ จำนวนประมาณ 50 ลำ จะนำเรือไปจอดทอดสมอเพื่อขายน้ำมันในบริเวณทะเลเขตต่อเนื่องให้แก่เรือประมง ส่วนเรือประมงที่ประสงค์จะเติมน้ำมันเขียวจะต้องได้รับโควต้าปริมาณการใช้น้ำมันในแต่ละเที่ยวเรือที่ออกจับปลาในทะเล จากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ซึ่งสมาคมฯ จะเป็นผู้ออกรหัส (Code) การเข้าเติมน้ำมันเขียวกับเรือประมง เพื่อเข้าไปเติมน้ำมันจากเรือ Tanker ซึ่งเป็นสถานีบริการนอกชายฝั่งทะเล และจะต้องไม่เกินกว่าปริมาณความจุของถังน้ำมันใช้การของเรือ
เรื่องระบบ Fleet Card เนื่องด้วยอธิบดีกรมสรรพสามิต ประธานกรรมการฯ ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการฯ และเชิญประธานสมาคมฯ (นายมงคล สุขเจริญคณา และคณะฯ) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัตร กรมสรรพสามิต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 เพื่อพิจารณาวาระ เรื่อง โครงการนำระบบฟรีทการ์ดมาใช้ ซึ่งเป็นระบบบัตรอิเลกทรอนิกส์สำหรับเติมน้ำมัน ทดแทนการออกเป็นรหัส (Code) เพื่อประโยชน์ในการกำกับ ติดตามและบริการการใช้น้ำมัน (เขียว) ให้ถูกต้อง ทันสมัย และเป็นฐานข้อมูลที่สามารถตรวจสอบปริมาณการใช้น้ำมันได้ตั้งแต่โรงกลั่น, เรือ Tanker จนถึง เรือประมง โดยได้มอบหมายให้ผู้แทนจาก ธนาคารกรุงไทย ได้มาร่วมรับฟังศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาให้ระบบฟรีทการ์ดสามารถใช้เป็นบัตรเครดิตสำหรับเติมน้ำมันเขียวกับเรือประมง ส่วนสมาคมผู้ค้าน้ำมันเรือ Tanker ได้เข้าร่วมประชุมด้วยก็มีท่าทีไม่ขัดข้อง หากธนาคารกรุงไทยสามารถให้เครคิตการชำระหนี้น้ำมันในระยะเวลาที่เหมาะสมได้ ในข้อเรียกร้องของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กรมประมงจะนำไปประสานต่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลฯ ต่อไป
ทั้งนี้ ในภาพรวมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญ ในประเด็นข้อเรียกร้องของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมประมงพื้นบ้านและสมาคมที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจัดประชุมทุกสัปดาห์ต่อเนื่อง เพื่อรับฟังปัญหาและร่วมกันแก้ไข จนขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย และคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงพื้นบ้าน คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์ และการประมงนอกน่านน้ำไทย คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะอนุกรรมพัฒนาผลิตผลผลิตภัณฑ์ประมงและการพาณิชย์ เพื่อทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง พร้อมนี้เพื่อแก้ไขปัญหาด้านกฎหมายประมง และเพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคประมงทุกภาคส่วนและการมีกองทุนสำหรับการพัฒนาภาคการประมง จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายใหม่ เช่น พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาการประมง และ พ.ร.บ.สภาการประมง รวมทั้งพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายประมงด้วย