นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG เปิดเผยว่า บริษัทได้รับความไว้วางใจจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้ออกแบบรายละเอียด และจัดทำเอกสารประกวดราคางานก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าทางรถไฟ และเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) ทั้งในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และงานส่วนที่ภาครัฐจะลงทุนเองด้วย
โดยโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ในส่วนที่จะให้เอกชนร่วมลงทุนมีมูลค่า 114,047 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดหาเอกชนร่วมลงทุน เพื่อการพัฒนาบนพื้นที่ 2,846 ไร่ ก่อสร้างแอ่งจอดเรือ กว้าง 920 เมตร ลึก -18.5 เมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า เพิ่มขึ้นอีก 7 ล้านทีอียู
ทั้งนี้จะเริ่มทยอยดำเนินการระยะแรก ซึ่งจะเปิดให้บริการท่าเทียบเรือตู้สินค้า F ก่อนในปี 2566 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจากเดิม 11 เพิ่มเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี รวมทั้งยังช่วยผลักดันสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางจากปัจจุบัน 7 % ให้เพิ่มขึ้นเป็น 30% เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ รวมถึงส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศได้อีกด้วยขณะเดียวกันการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ให้บริษัทออกแบบงานก่อสร้างในส่วนที่รัฐจะลงทุน มูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาท โดยจะแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 4 สัญญา ได้แก่
1. งานสำรวจระดับความลึกท้องทะเล และงานสำรวจชั้นดินบนบกและในทะเล งานออกแบบร่องน้ำและแอ่งจอดเรือของท่าเทียบเรือขนส่งตู้สินค้า ความลึก -18.5 ม.รทก. และ กว้าง 920 เมตร ร่องน้ำเดินเรือ และแอ่งจอดเรือของท่าเทียบเรือชายฝั่ง ความลึก -9 ม.รทก. และกว้าง 285 เมตร ร่องน้ำเดินเรือ และแอ่งจอดเรือของท่าเทียบเรือบริการ ความลึก -16 ม.รทก. (เนื่องจากเป็นร่องน้ำเชื่อมต่อจากท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 2) และกว้าง 600 เมตร และงานออกแบบคันหินล้อมพื้นที่ถมและเขื่อนกันคลื่น
2. งานออกแบบท่าเทียบเรือชายฝั่ง ท่าเทียบเรือบริการ อาคารส่วนสาธารณูปโภคเช่น อาคารประตูตรวจสอบ 5 อาคาร สถานีไฟฟ้าย่อย 115 KV อาคารสถานีไฟฟ้าย่อย 22 KV อาคารพักขยะ อาคารร้านอาหารและจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี อาคารสูบจ่ายน้ำประปา และอาคารควบคุมสถานีสูบระบายน้ำ อาคารในท่าเรือชายฝั่ง ได้แก่ สำนักงานปฏิบัติการท่าเรือชายฝั่ง ด่านทางเข้าท่าเรือชายฝั่ง โรงซ่อมบำรุง สถานีไฟฟ้าย่อย 6.6 KV อาคารในท่าเรือบริการ ได้แก่ สำนักงานท่าเรือบริการ โรงนอนพนักงาน อาคารสื่อสารและหอสังเกตการณ์ งานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม งานออกแบบระบบประปาและดับเพลิง ระบบจัดการน้ำเสีย ระบบจัดการขยะ ระบบระบายน้ำฝน ระบบไฟฟ้า ระบบสารสนเทศและสื่อสาร ระบบกล้องวงจรปิด และงานออกแบบระบบถนน จุดตัดทางรถไฟ และระบบจราจรภายในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3
3. งานระบบรถไฟ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของการขนส่งสินค้าทางรถไฟของท่าเรือแหลมฉบัง และ4.งานจัดหา และติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายตู้สินค้า และงานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการขายแบบในส่วนของสัญญาส่วนที่ 1 เพื่อให้ผู้รับเหมาที่สนใจมาประมูลแข่งขันกันในเร็วๆ นี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit