สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมการประชุม The Ad Hoc Codex Intergovernmental Task Force on Antimicrobial resistance ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม 2562 ณ เมือง Pyeongchang สาธารณรัฐเกาหลี โดยมี ดร. จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. หัวหน้าคณะฝ่ายไทย นำ ดร.มินตรา ลักขณา นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ดร.สคราญมณี กระจ่างวงษ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ มกอช. พร้อมด้วย ผู้แทนจากกรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมการประชุม
ดร. จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มกอช. ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นในการพิจารณาทบทวนร่างเอกสารหลักปฏิบัติที่ดีในการลดและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพที่มาจากอาหาร (Draft Revision of the Code of Practice to Minimize and Contain Foodborne Antimicrobial Resistance (CXC 61-2005 หรือ COP) ซึ่งระบุบทบาทหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพตลอดห่วงโซ่อาหารให้มีการใช้ยาอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล และให้ข้อคิดเห็นในการจัดทำร่างเอกสารแนวทางการบูรณาการการติดตามและเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่มาจากอาหาร (Draft Guidelines on Integrated Monitoring and Surveillance of Foodborne Antimicrobial Resistance; GLIS) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับขั้นตอนการปฎิบัติที่จะนำไปสู่การติดตามและเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่มาจากอาหาร โดยมุ่งเน้นให้เอกสารมีเนื้อหายืดหยุ่นและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในแต่ละประเทศสมาชิกที่มีศักยภาพแตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพตลอดห่วงโซ่อาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คณะ TFAMR กำหนดกรอบการทำงานเพื่อจัดทำเอกสารทั้ง 2 ฉบับให้แล้วเสร็จไม่เกินปี พ.ศ. 2563
นอกจากนี้ ดร. จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ ยังได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ในที่ประชุม TFAMR ต่อการดำเนินงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เกี่ยวกับการป้องกันและจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ว่าองค์กรระหว่างประเทศควรสนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในภาพรวม โดยเฉพาะประเทศที่ยังขาดมาตรการหรือแผนการจัดการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกควรให้ความสำคัญในการจัดทำข้อมูลการใช้ยาต้านจุลชีพในภาคการผลิตสินค้าเกษตรขั้นต้น เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในภาพรวมของโลกอย่างมีประสิทธิภาพตอบสนองต่อแผนงานระดับโลกด้านการจัดการการดื้อยา หรือ Global Action Plan on Antimicrobial Resistance และเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยทางสุขภาพทั้งมนุษย์และสัตว์อย่างยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit