นายพิเชษฐ์ วิริยะหาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปีนี้กรมฯได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ ปีการผลิต 2562/2563 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการนี้เมื่อปีที่ผ่านมา สหกรณ์ได้ลงไปส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ลดพื้นที่ทำนาปรังหันมาปลูกข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย และมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปให้การสนับสนุนทั้งในด้านองค์ความรู้ ตั้งแต่การเตรียมดิน การดูแลพื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อส่งจำหน่ายให้กับบริษัทเอกชน ซึ่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ได้เข้ามาเปิดจุดรับซื้อจากสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับสหกรณ์มีรายได้ดีกว่าการทำนา เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและมีการกำหนดราคารับซื้อที่ชัดเจน รวมถึงเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย สามารถปลูกได้ผลดีในช่วงหน้าแล้ง
ขณะนี้กรมฯได้สำรวจสหกรณ์ที่มีความพร้อมจะเข้าร่วมโครงการในปีนี้ และย้ำว่าต้องเป็นพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอ ต่อการเพาะปลูก และเกษตรกรต้องลงมือปลูกไม่เกินวันที่ 15 มกราคม 2563 เพื่อจะเก็บเกี่ยวได้ทันในช่วงฤดูแล้ง เบื้องต้น มีสหกรณ์สนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนา 156 สหกรณ์ ใน 33 จังหวัด สมาชิก 21,392 ราย พื้นที่ประมาณ 156,203 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 1.5 - 2 แสนตัน และมีสหกรณ์ที่ต้องการให้ช่วยเหลือในเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 74 สหกรณ์ สมาชิกประมาณ 13,971 ราย กรมฯจึงได้จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์วงเงิน 100 ล้านบาท ให้สหกรณ์กู้ไปให้สมาชิกลงทุนช่วงเริ่มต้นฤดูการเพาะปลูก และจัดหาปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อบริการสมาชิก โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1 % ปัจจุบันมีสหกรณ์ ขอกู้เงินดังกล่าวแล้ว 39 สหกรณ์ สมาชิก 3,050 ราย วงเงิน 38.9 ล้านบาท
" สมาชิกสหกรณ์เหล่านี้เคยร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังนาในปีที่ผ่านมา และปีนี้ต้องการให้สหกรณ์ทำโครงการนี้อีก ซึ่งเราจะนำปัญหาอุปสรรคเมื่อปีที่แล้วมาปรับปรุงและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ ทั้งในเรื่องเกษตรกรขาดความรู้ในการปลูกข้าวโพด ปัญหาโรคแมลงระบาด เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนกำหนด และฝักข้าวโพดไม่สมบูรณ์เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งได้เน้นย้ำให้สหกรณ์เข้าไปแนะนำสมาชิก ดูแลระหว่างการปลูก และการรวบรวมผลผลิต โดยกรมฯได้ประสานหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลด้านการผลิต ส่งนักการเกษตรลงพื้นที่ เพื่อไปให้ความรู้แก่เกษตรกร ตั้งแต่การเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ การเตรียมแปลงปลูก การดูแลผลผลิต การให้ปุ๋ย ให้น้ำ การกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช สำหรับตลาดรับซื้อขณะนี้ได้มีการจับคู่ธุรกิจระหว่างบริษัทเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ กับสหกรณ์ ซึ่งจะมีการกำหนดจุดรับซื้อร่วมกัน และประกันราคารับซื้อข้าวโพดไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม ที่ความชื้น 14.5% ซึ่งเป็นราคา ณ หน้าโรงงาน หากความชื้นมากกว่านั้น จะมีการระบุราคารับซื้อตามอัตราความชื้น ที่ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร" นายพิเชษฐ์กล่าว
ทั้งนี้ กรมฯได้กำหนดห้วงเวลาดำเนินการ ในการชี้แจงโครงการ การเตรียมเมล็ดพันธุ์และการดูแลการปลูก 30 พฤศจิกายน 2562 - 15 มกราคม 2563 การทำสัญญารับซื้อข้าวโพดล่วงหน้าระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2562 - 15 มกราคม 2563 และคาดว่าจะเริ่มรวบรวมผลผลิตส่งให้บริษัทคู่ค้าตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit