นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ระยะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน มีอากาศที่หนาวเย็นลง แต่บางพื้นที่ก็ยังมีฝนตกสลับกับอากาศร้อน ทำให้อุณหภูมิของน้ำในรอบวันแตกต่างกันมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณสมบัติน้ำ ผลให้คุณภาพน้ำลดต่ำลง ทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และเคมีภาพ ลักษณะเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อสุขภาพปลาเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งในการปรับตัวนี้ จำเป็นต้องนำพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหารมาใช้ ทำให้พลังงานที่จะนำไปใช้ในการเจริญเติบโตหรือสร้างระบบภูมิคุ้มกันลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้ทำให้ปลาอ่อนแอ ป่วย และติดโรคได้ง่าย
ทั้งนี้ ในช่วงต้นหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม น้ำจะมีอุณหภูมิต่ำเป็นเหตุทำให้เชื้อโรคบางชนิดเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดี โดยเฉพาะโรคอียูเอส โรคตัวด่าง และโรคไวรัสเคเอชวี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานประมงจังหวัดต่างๆ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรแล้ว โดยเบื้องต้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการควบคุมโคระบาดในช่วงฤดูหนาว ขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมง ดังนี้
1. เกษตรกรควรวางแผนระยะเวลาการเลี้ยงปลาให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม หรือ ควรงดเว้นการเลี้ยงปลาในช่วงฤดูหนาว
2. ควรมีบ่อพักน้ำใช้เพื่อใช้ในฟาร์มได้เพียงพอตลอดฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว
3. เลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงให้เหมาะสมกับฤดูกาล โดยในช่วงฤดูหนาว ควรเลือกปลาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดน้อย เช่น ปลานิล ปลาจีน และปลาไม่มีเกล็ด ที่สำคัญ ควรลดความหนาแน่นของปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงและหมั่นเอาใจใส่ ตรวจสุขภาพปลาอย่างสม่ำเสมอ
4. ควบคุมปริมาณการให้อาหารอย่างเหมาะสม ลดปริมาณอาหารที่จะให้ลง 10 – 15 % เนื่องจากช่วงอุณหภูมิต่ำปลาจะกินอาหารได้น้อยลง ถ้าหากมีปริมาณอาหารเหลือจะสะสมตามพื้นบ่อ ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย เกิดก๊าซพิษ และมีผลกระทบต่อสุขภาพปลา ทั้งนี้ อาจมีการเสริมวิตามินซีในอาหารตามอัตราการใช้ที่ระบุในลาก โดยน้ำหนัก จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง ต้านทานโรคและลดความเครียดของปลาได้
5. ควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อ โดยใช้เกลือแกงมาละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ ประมาณ 100-150 กิโลกรัมต่อไร่
6. หากพบว่ามีปลาที่เลี้ยงป่วยหรือมีอาการผิดปกติ ควรแยกออกไปเลี้ยงและรักษาต่างหาก กรณีป่วยหนักควรทำลายทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง หรือ หากพบปลาตายในบ่อเลี้ยงให้กำจัดโดยการฝังหรือเผาทั้ งนี้ หากกรณีปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีความผิดปกติ ให้รีบปิดทางน้ำเข้าและหยุดการเติมน้ำจากธรรมชาติเข้ามาในบ่อทันที
7. หากไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ ในช่วงระหว่างการเลี้ยง ให้ควบคุมปริมาณการให้อาหาร
8. หากพบว่าน้ำในบ่อเริ่มเน่าเสีย โดยสังเกตว่ามีก๊าซผุดขึ้นมาจากพื้นบ่อ ให้ใช้เกลือสาดบริเวณดังกล่าว ประมาณ 200 – 300 กิโลกรัมต่อบ่อขนาด 1 ไร่ เพื่อลดความเป็นพิษของก๊าซพิษ เช่น แอมโมเนีย เป็นต้น
9. เมื่ออากาศเริ่มเข้าสู่สภาวะที่เหมาะสม (อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น) และพบว่าปลาในธรรมชาติเป็นปกติ ไม่มีอาการป่วย ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำตามความเหมาะสม และให้อาหารปลาได้ตามปกติ
ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นสังเกตและดูแลสัตว์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากพบมีปลาป่วยหรือมีอาการผิดปกติ สามารถแจ้งหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด หรือ ศูนย์วิจัยฯ สัตว์น้ำชายฝั่ง/น้ำจืด ของกรมประมงในพื้นที่นั้นๆ หรือ กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรุงเทพฯ โทร.0 2579 4122
โรคอียูเอส (Epizootic Ulcerative Syndrome : EUS) หรือ "โรคแผลเน่าเปื่อย" เป็นโรคที่อยู่ภายใต้ระบบการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำของประเทศไทย มีสาเหตุจากเชื้อราสกุลอะฟลาโนมัยซิส (Aphanomyces invadans) โดยลักษณะอาการปลาที่ป่วย จะมีแผลเน่าเปื่อย ลึกตามตัวพบโรคนี้ได้ในปลาหลายชนิดทั้งที่อยู่ในธรรมชาติและบ่อเลี้ยง เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลากระสูบ ปลาแรด และปลาสลิด เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่มียาหรือสารเคมีที่จะใช้ในการรักษาโรคได้ หากสภาพอากาศและน้ำในบ่อเลี้ยงมีอุณหภูมิสูงขึ้น เชื้อราดังกล่าว จะเจริญและแพร่กระจายได้น้อยลง ในขณะเดียวกันปลาที่กำลังป่วยจะมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น ช่วยให้ปลาหายป่วยเองได้ในเวลาต่อมา
โรคตัวด่าง เป็นอีกโรคหนึ่งที่เกษตรกรควรเฝ้าระวัง โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียสกุลฟลาโวแบคทีเรียม (Flavobacterium spp.) พบโรคนี้มากในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและอุณหภูมิน้ำต่ำ มักเกิดนอกจากนี้มักเกิดขึ้นกับปลาหลังจากการย้ายบ่อ หรือการขนส่งโดยลักษณะอาการปลาที่ป่วยจะมีแผลด่างขาวตามลำตัว หากติดเชื้อรุนแรงปลาจะตายเป็นจำนวนมาก ในรยะเวลาสั้น พบโรคนี้ได้ในปลาสวยงาม ปลากะพงขาว ปลาดุก ปลาช่อน และปลาบู่ วิธีการป้องโรคที่ดี คือ ลดความหนาแน่นปลา ลดอาหาร ควบคุมคุณสมบัติน้ำให้เหมาะสม ในระหว่างการเคลื่อนย้ายหรือขนส่ง ให้ใช้เกลือแกง 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ตัน (0.1 %) เพื่อช่วยลดความเครียด
โรคเคเอชวี (Koi Herpesvirus Disease : KHVD) โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส พบในปลาตระกูลคาร์พและไน โดยลักษณะอาการปลาที่ป่วย จะรวมกลุ่มอยู่ตามผิวน้ำและขอบบ่อ ซึม ว่ายน้ำเสียการทรงตัวลำตัวมีเมือกมาก มีแผลเลือดออกตามลำตัว ในปลาที่มีอาการติดเชื้อรุนแรงจะพบอาการเงือกเน่า ปลาอ่อนแอ กินอาหารน้อยลงหรือไม่กินอาหาร ทยอยตายพบมีอัตราการตายสูงถึง 50 – 100 % โรคนี้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้สารเคมี วิธีการป้องโรคที่ดี คือ ลดความหนาแน่นปลา ลดอาหาร ควบคุมคุณสมบัติน้ำให้เหมาะสม และรักษาตามสาเหตุแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย รา และหรือปรสิต เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit