เมื่อรวมการแข่งขันทั้ง 3 รายการในภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าประจำปี 2562 มีเรือใบใหญ่ 75 ลำ จากทีมนักกีฬา 14 ประเทศ, เรือใบเล็ก 119 ลำของนักกีฬาเยาวชน 126 คน, และเรือใบบังคับวิทยุ 24 ลำ รวมจำนวนเรือใบทุกประเภทของงานในปีนี้มากถึง 218 ลำ
ไฮไลต์การแข่งขันเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ทและมัลติฮัลล์ของวันยังเป็นรุ่นไออาร์ซี 0 ที่ลุ้นต่อเนื่องจากเมื่อวาน โดยกัปตันสาวชาวไทย นพเก้า พูนพัฒน์ สามารถนำเรือทีเอชเอ72 ชิงอันดับ 1 ของวัน แก้มือเรือทีมฮอลลีวู้ดของกัปตันเรย์มอนด์ โรเบิร์ต เป็นผลสำเร็จ "พอใจกับการทำงานของทีมวันนี้มาก แทบไม่มีข้อผิดพลาดเลย" กัปตันสาววัย 24 ปีกล่าว "สภาพอากาศโดยรวมเหมือนเมื่อวานคือในรอบแรกลมแรงหน่อยและเบาลงในรอบสอง สนามแข่งทั้ง 2 รอบเป็นแบบคอร์สทุ่นเหนือลม-ใต้ลม ทำให้ต้องใช้เทคนิคการแล่นที่หลากหลาย ส่วนความยากคือวันนี้กระแสลมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อย จึงมีความลำบากเล็กน้อย แต่ทีมเรือเราทำได้ดีมากและจะไม่ประมาท"
รายการอินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส (International Dinghy Classes) ซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยในปีนี้มีเรือใบเล็กร่วมแข่งขัน 119 ลำ ด้วยนักกีฬาเยาวชน 126 คน โดยแบ่งเป็นรุ่นออพติมิสต์ชายและหญิง (87 ลำ), เลเซอร์ 4.7 รวมชายหญิง (11 ลำ), เลเซอร์สแตนดาร์ด (7 ลำ), เลเซอร์เรเดียล (7 ลำ), และ 420 (7 ลำ)สำหรับผลการแข่งขันเรือใบเล็กวันแรก ตำแหน่งผู้นำทุกรุ่นตกเป็นของนักกีฬาเยาวชนไทยซึ่งโชว์ผลงานได้ยอดเยี่ยมตามคาด โดยผู้นำในรุ่นออพติมิสต์ชายคือ ม.ล.เวฆา ภานุพันธ์, รุ่นออพติมิสต์หญิงคือทอฝัน บุนนาค, รุ่นเลเซอร์เรเดียล คือ สุชาครีย์ เดชทศพล, รุ่นเลเซอร์ 4.7 คือปาลิกา พูนพัฒน์, รุ่น 420 คือ ธนวรรณ เอี่ยมมี และ ณัฐพงศ์ ยวงงาม, รุ่นเลเซอร์สแตนดาร์ด คือ จารุพงศ์ มีอยู่สามเสน
นาวาเอก พีระ สกุลเต็ม ผู้ช่วยนายสนามการแข่งขันเรือใบเล็ก อินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส กล่าวถึงการแข่งขันเรือใบเล็กวันแรกว่า "สภาพอากาศดีมาก ลมแรง 13-15 นอตตลอดการแข่ง ทำให้เราจัดแข่งได้อย่างสนุกสนานครบ 3 รอบตามแผน สำหรับปีนี้มีนักกีฬาเรือใบเยาวชนทั้งจากจีนและฮ่องกงมาร่วมแข่งขันเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเติบโตของการจัดแข่งขันเรือใบเยาวชนในประเทศไทย เพื่อให้มีนักกีฬาจากต่างชาติมาร่วมมากขึ้นในอนาคต โดยในปีนี้ เรายังได้มีการจัดอบรมดิงกี้ คลินิค ต่อเนื่องจากปีก่อน เพื่ออบรมทักษะ กฏ กติกาการแล่นเรือใบแก่เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขัน"ในปีนี้ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าได้เพิ่มการแข่งขันรายการเรือใบบังคับวิทยุ (International One Meter Class: IOMC) เพื่อสมาชิกเรือใบบังคับวิทยุทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ได้ โดยในวันแรกเป็นการทดสอบการแข่งขันเรือใบบังคับวิทยุจากฐานเคลื่อนที่ในทะเล บริเวณอ่าวกะตะ เพื่อให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันเรือใบบังคับวิทยุได้ประเมินสภาพสนามแข่ง เพื่อกำหนดคอร์สการแข่งขันที่เหมาะสมที่สุดในวันรุ่งขึ้น
รายการไอโอเอ็มซีจะดำเนินการแข่งขันโดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ภายใต้การอำนวยการของชมรมเรือใบบังคับวิทยุ Tharcorat โดยการสนับสนุนจากกองทัพเรือ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต รวมทั้ง Thailand RC Sailboat และสมาคมเรือใบบังคับวิทยุสากล (International One Meter Class Association-IOMICA)
ติดตามผลการแข่งขันเรือใบรุ่นอื่น ๆ ได้ที่ https://kingscup.com/result
การแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดงานการแข่งขันเรือใบภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ภายใต้การอำนวยการของสโมสรเรือใบราชวรุณ โดยการสนับสนุนจากกองทัพเรือ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย และจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้สนับสนุนหลักการจัดงานคือ กะตะ กรุ๊ป รีสอร์ท ร่วมด้วยผู้สนับสนุนร่วมคือ อาร์เอ็มเอ กรุ๊ป และผู้สนับสนุนเชิงกลยุทธ์อื่น ๆ ได้แก่ ไชน่า เบลต์ แอนด์ โร้ด อินเตอร์เนชั่นแนล รีกัตต้า (บีอาร์อาร์), บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน), และ ฟอร์ด