อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer โดยพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้อยู่ในอาชีพหม่อนไหมได้อย่างปลอดภัย มั่นคงและยั่งยืน โดยปัจจุบันกรมหม่อนไหมมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 1,421 ราย และตั้งเป้าหมายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะสามารถขึ้นทะเบียน Smart Farmer หม่อนไหมรายใหม่ อีกจำนวน 1,500 ราย โดยในจำนวนนี้จะส่งเสริมให้อาสาสมัครเกษตรของกรมหม่อนไหม ที่เรียกว่า "หม่อนไหมอาสา" ให้เป็น Smart Farmer ในการทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหม รวมทั้งส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้บริการด้านการเกษตรแก่เกษตรกรในระดับครัวเรือนและหมู่บ้านอย่างทั่วถึง ซึ่งหม่อนไหมอาสาที่เป็น Smart Farmer จะเป็นตัวอย่างต้นแบบที่ดีในการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม และสามารถส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรหม่อนไหมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบบูรณาการของทุกหน่วยงาน ทำให้เกษตรกรหม่อนไหมในพื้นที่มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้
สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการมอบรางวัลแก่ผู้แทน Smart Farmer ทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือกการแสดงนิทรรศการผลงานกรมหม่อนไหม อาทิ อนุรักษ์ภูมิปัญญาสืบสานลายผ้าสู่สากล การติดดวงตรานกยูงพระราชทานบนผลิตภัณฑ์ผ้าไหม โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตผสมมัลเบอร์รี่ โครงการผลิตการใช้เส้นไหมไทยที่สาวด้วยวิธีการต่าง ๆ ต่อคุณสมบัติผ้าไหม โครงการกระบวนการผลิตแอนโทไซยานินผงจากผลหม่อนสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และโครงการฟิล์มโปรตีนและคุณลักษณะฟิล์มโปรตีนที่ได้จากเศษเหลือกระบวนการผลิตเส้นไหม โครงการ Smart Farmer โครงการไหมอาสา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการแสดงผ้าไหมลายโบราณล้ำค่าที่หาชมได้ยาก และการจำหน่ายสินค้าผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ผ้าไหม GI ผ้าไหมเด่นจากจังหวัดต่าง ๆ เวชสำอางและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากหม่อนและไหม รวมทั้งการแจกชิมชาถั่งเช่า ชาใบหม่อน และอาหารจากหม่อนและไหมด้วย
HTML::image( HTML::image(