นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำของประเทศไทย (Joint Working Group) และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมประชุมหารือโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation : MLC) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านของกรอบความร่วมมือ กลไกการทำงาน พร้อมทิศทางในการดำเนินการในอนาคต โดยประเทศสมาชิกกลุ่มแม่โขง-ล้านช้าง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และประเทศเจ้าภาพคือ จีน ที่ได้เห็นชอบร่วมกันในการพัฒนากรอบความร่วมมือให้เป็นรูปธรรม เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการคำนึงถึงการใช้แม่น้ำร่วมกัน โดยเคารพสิทธิของการใช้น้ำของประเทศต้นน้ำและประเทศท้ายน้ำ ซึ่งประเทศจีนในฐานะผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ได้แสดงจุดยืนในการคำนึงถึงการเคารพในสิทธิการใช้น้ำบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ-ท้ายน้ำ และการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก นอกจากนี้ เวทีการประชุมยังได้เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีของประเทศสมาชิก กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของแต่ละประเทศ ผลลัพธ์จากความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และทิศทางการดำเนินการในความร่วมมือในอนาคตด้วย ในส่วนประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงว่า เนื่องจาก MLC เป็นความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรน้ำที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นไปในเชิงบวก จึงควรมีกลไกความร่วมมือที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณน้ำทั้งปี เพื่อให้ประเทศท้ายน้ำสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำหรือแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ประเทศไทยยังได้สนับสนุนความร่วมมือระหว่างกรอบแม่โขง-ล้านช้าง และกรอบคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่สามารถดำเนินความร่วมมือในลักษณะเกื้อกูลกัน โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงซึ่งเป็นความร่วมมือของแม่น้ำโขงมีอายุย้อนหลังไปกว่า 50 ปี มีข้อมูลที่บันทึกจำนวนมากและเป็นประโยชน์เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ได้มีโอกาสร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU ระหว่าง LMC Water Center และ MRCS จึงเชื่อมั่นว่าศูนย์น้ำทั้งสอง จะสามารถแบ่งปันข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนให้กับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง – ล้านช้าง ต่อไป รวมทั้งฝ่ายไทยยังได้เสนอขอให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของแม่น้ำโขง หรือประเด็นโดดเด่นที่ควรได้รับความสนใจ จากกรณีระดับน้ำส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง เช่น ระดับน้ำที่ต่ำมากจนเป็นอุปสรรคส่งผลต่อการดำรงชีพในการทำประมงหรือการเดินเรือ ซึ่งจะขอความร่วมมือจากจีนพิจารณาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นครั้งคราว โดยให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อร่วมติดตามและป้องกันสถานการณ์ภัยแล้ง เป็นต้น.
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit