ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า AGrowth เป็นโปรแกรมการเร่งสร้างการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเกษตรในระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง NIA บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี 10 สตาร์ทอัพที่ได้รับการคัดเลือกจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย ฮ่องกง ไนจีเรีย และสหรัฐอเมริกา จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 240 บริษัท ตามความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์และสร้างการแก้ปัญหาแนวทางใหม่ๆ ได้แก่ เทคโนโลยี การผลิตพืช การเกษตรแม่นยำสูง การใช้โปรแกรมอัตโนมัติ การแบ่งปันเครื่องจักร การใช้โดรน การทำเกษตรในร่ม และการบริหารจัดการพื้นที่ทำการเกษตร ผ่านกระบวนการเร่งสร้างให้เกิดการเติบโตและขยายผล ด้วยการทดสอบระบบสาธิต (Proof-of-Concept) ในประเทศไทยภายใต้การจัดงาน AGrowth Demo Day เพื่อนำเสนอผลงานแก่นักลงทุนนานาชาติ องค์กรภาครัฐและเอกชน
สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าวมีสตาร์ทอัพที่พร้อมออกสู่ตลาดและพร้อมที่จะนวัตกรรมเข้าไปช่วยเหลือและพัฒนากิจกรรมด้านการเกษตร 10 ราย ได้แก่ (ประเทศไทย) EVERGROW ผู้พัฒนาเรือนกระจกสำหรับการเพาะปลูกพืช โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่แปลงเกษตรขนาดใหญ่ รวมถึงระบบอัตโนมัติต่างๆที่จะช่วยควบคุมคุณภาพของผลผลิต พร้อมลดอุปสรรคจากสภาพภูมิอากาศ ศัตรูพืช และทำให้การจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ GetzTrac ระบบเชื่อมต่อผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรกับเกษตรกรที่ต้องการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น รถแทรคเตอร์ รถเกี่ยวข้าว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการซื้อเครื่องมือดังกล่าวและนำไปใช้ในการเกษตร Fresh Produce Kings สตาร์ทอัพด้านการเกษตรระบบปิด และการใช้เทคโนโลยีไฮโดรโปนิกส์เพื่อผลิตผักสดสำหรับผู้บริโภคในเมือง (มาเลเซีย) Poladrone ผู้พัฒนาระบบภาพถ่ายจากโดรน เพื่อคาดการณ์ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับเก็บเกี่ยวผลิตผล และสำรวจพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อปกป้องการทำลายป่าไม้ Plant Cartridge ผู้พัฒนาพื้นที่แปลงเกษตรขนาดเล็ก สำหรับผู้ที่มีพื้นที่อาศัยในเมืองที่มีขนาดจำกัด และสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชเป็นงานอดิเรก (สหรัฐอเมริกา) Agrisource Data ซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของพืชเพื่อเฝ้าระวังเกี่ยวกับสุขภาพพืชและคาดคะเนวันเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยอ้างอิงจากข้อมูลของแสงสะท้อนจากคลอโรฟิลล์ในใบไม้ (อินเดีย) Cropin โซลูชั่นและการให้บริการด้านข้อมูลต่างๆที่จำเป็นสำหรับเกษตรกร ทำให้ผู้เพาะปลูกสามารถรับรู้สถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการเกษตรได้แบบเรียลไทม์ (ฮ่องกง) Farmacy HK สตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่การทำเกษตรในเมือง โดยเฉพาะในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงแรม และครัวเรือน ทำให้มีพืชผักไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปี (ออสเตรเลีย) FoodCube โซลูชั่นการทำเกษตรในเมืองแบบอัจฉริยะ โดยปลูกในพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดเพียง 18 ตารางเมตร แต่ให้ผลผลิตสูง สามารถติดตั้งบนดาดฟ้า ในห้องใต้ดิน หรือในออฟฟิศ และ(ไนจีเรีย) Hello Tractor แพลตฟอร์มให้บริการรถแทรคเตอร์และเครื่องมือทางการเกษตรแก่ชุมชน ในราคาที่สมเหตุสมผล และยังครอบคลุมสินเชื่อการซื้อแทรกเตอร์จากธนาคาร และผู้แทนจำหน่ายที่ให้บริการซ่อมแซม
ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวถือเป็นแนวทางที่สำคัญที่จะทำให้เกิดความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการเกษตรให้เป็นไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันประสิทธิภาพในการทำการเกษตรของไทยนั้นยังถือว่าต่ำกว่าอีกหลายประเทศ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการขาดแคลนเทคโนโลยีและนวัตกรรม และนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพเหล่านี้ จะเป็นเครื่องมือและอาวุธสำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่ของภาคเกษตรไทยให้พร้อมรับมือโฉมหน้าโลกเกษตรในอนาคตอันใกล้ โดยยังเป็นการปูทางในการเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับจำนวนเกษตรกร หรือผู้ประกอบการด้านธุรกิจการเกษตรที่มีอยู่กว่า 25 ล้านรายให้มีความพร้อมในการผลิตพืชพันธุ์ต่างๆ ที่มีคุณภาพในฐานะการเป็นครัวของโลก นอกจากนี้ NIA ยังมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาสตาร์ทอัพกลุ่มเกษตรให้เป็นกลุ่มที่มีความแข็งแกร่ง สามารถไต่ไปสู่การเป็นยูนิคอร์น (ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) เทียบเท่ากับสาขาอื่นๆ ที่เป็นที่นิยม เช่น การเงิน (ฟินเทค) การท่องเที่ยว (ทราเวลเทค) กลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึก (ดีพเทค) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีมูลค่าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มมากขึ้น และก้าวสู่ผู้นำด้านเกษตรกรรมได้ในอนาคตอันใกล้
ด้าน มร. จอห์น เครน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เนสท์มีความภูมิใจอย่างยิ่งในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาสู่ประเทศไทยร่วมกับ NIA ด้วยเครือข่ายธุรกิจสตาร์ทอัพในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทำให้เราสามารถเข้าถึงและทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพระดับโลกและคัดเลือกธุรกิจสตาร์ทอัพ 10 รายที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหมาะสมกับประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมโครงการ AGrowth ครั้งแรกในประเทศไทย และขอขอบคุณการสนับสนุนด้วยดียิ่งจากพันธมิตรทั้ง 2 องค์กร ได้แก่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำโครงการนี้ประสบความสำเร็จ"
ทั้งนี้ ตลอดช่วง 12 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัดได้ร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพ 6 ราย ได้แก่ Poladrone (มาเลเซีย) Hello Tractor (ไนจีเรีย) Cropin (อินเดีย) Agrisource Data (สหรัฐอเมริกา) รวมทั้ง GetzTrac และ Evergrow จากประเทศไทย ในการปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับเกษตรกรไทยและแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญในขณะนี้
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ช่วงแรกของการทำงานร่วมกับกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพรุ่นใหม่จากนานาประเทศถือว่าค่อนข้างท้าทาย แต่ภายหลังไม่นานรู้สึกประทับใจที่บริษัทเหล่านี้แสดงถึงความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการพัฒนาผลิตผล ปริมาณการผลิต และรายได้ ตัวอย่างเช่น GetzTrac ผู้ให้บริการระบบจับคู่เพื่อเชื่อมต่อเจ้าของเครื่องจักรกลทางการเกษตรกับเกษตรกรที่ต้องการใช้เครื่องจักรได้มอบส่วนลดสำหรับแพคเกจค่าบริการเก็บเกี่ยวและอัดฟาง ส่งผลให้มีจำนวนผู้จองใช้บริการมากถึง 300 รายต่อปี และเนื่องจากโดยปกติจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยในการรอเครื่องจักรเพื่อใช้งานนานถึง 4 วันด้วยบริการนี้ทำให้ชาวนาลดเวลารอได้มากถึง 1,200 วันต่อปี อีกทั้ง ยังช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวได้ร้อยละ 10 หรือเป็นจำนวนเงินประมาณ 1.7 ล้านบาท ซึ่งนี่เป็นแค่ตัวอย่างจากการทำนาข้าวเพียงอย่างเดียว
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า "ในฐานะที่บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืนในประเทศไทย เราจึงมองหาโอกาสที่จะเติมเต็มวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง และเน้นการทำเกษตรในเมืองที่จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้เป้าหมายที่วางไว้ประสบความสำเร็จ การที่ได้มีโอกาสร่วมทำงานในโครงการ AGrowth กับ NIA เนสท์ กรุ๊ป และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด รวมทั้งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ครั้งนี้ นับว่าเป็นประสบการณ์การทำงานที่มีคุณค่าและสร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก นอกเหนือจากการที่เราสามารถลดเวลาและต้นทุนที่บริษัทต้องใช้ในการทำวิจัยและพัฒนาเอง"
จากหลักฐานพบว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อวงจรผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้น ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจึงส่งเสริมการทำเกษตรในเมืองให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งอาหารสำหรับคนเมืองและผู้พักอาศัยแถบชานเมือง ทางศูนย์ฯ ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ Plant Cartridge จัดทำพื้นที่การเกษตรขนาดเล็กในโครงการบ้านพักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ Aspen Tree ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด แต่ยังเป็นการจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้ดูแลพืชผักและมีผักสดรับประทาน นอกเหนือจากการให้บริการการทำเกษตรในเมืองแก่ผู้พักอาศัยในโครงการอื่นของบริษัทฯ อีกด้วย โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานร่วมกับ Plant Cartridge ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการประหยัดวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกถึง 200 เท่า การลดลงของเวลาเตรียมงานร้อยละ 20 ต้นไม้มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 30 และการลดการใช้น้ำและปุ๋ยถึงร้อยละ 90 นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ต้นไม้ยังสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ 100% และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น โครงการ AGrowth จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพลิกโฉมการเกษตรของประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนในกลุ่มเกษตรกร อีกทั้งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงให้สตาร์ทอัพด้านการเกษตรจากนานาประเทศได้เข้าถึงระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทย รวมถึงจะเป็นตัวเร่งในการสร้างสรรค์สตาร์ทอัพด้านการเกษตรรุ่นใหม่ในประเทศไทยให้มีความหลากหลายและเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand