ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวถึงที่มาและความสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยครั้งนี้ว่า
"สุขภาพหรือสุขภาวะในมิติของการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทของสังคมไทย ประกอบด้วยสุขภาวะ 4 มิติหลัก ได้แก่ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และ สุขภาวะทางปัญญา โดยการมีสุขภาวะทางปัญญา คือการที่มนุษย์มีศักยภาพและได้เติบโตงอกงามจากการพัฒนาด้านในอย่างลึกซึ้งและเกิดปัญญาในเข้าใจธรรมชาติของชีวิต อันนำไปสู่ชีวิตที่ดีงามและสมบูรณ์ หากกล่าวในภาพกว้าง คำว่า 'ปัญญา' ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ หมายความว่า 'ความรู้ทั่ว รู้เท่าทันและความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดี ความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่' โดยในเชิงปฏิบัติ สุขภาวะทางปัญญาเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันกับสุขภาวะมิติอื่นๆ แบบองค์รวมโดยไม่ได้แยกขาดจากกัน เพื่อนำไปสู่การมีชีวิตที่มีสุขภาวะ ทั้งนี้ผลของงานวิจัยนี้ได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว"
"หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของ สสส. คือการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนงาน โดยต่อยอดสู่การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์อันจะนำไปสู่การทำงานอย่างเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ์ผล วันนี้งานวิจัยที่ออกมานับเป็นก้าวสำคัญในการยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาวะทางปัญญาและพฤติกรรมการเพิ่มกิจกรรมทางกาย ทำให้เราได้เห็นว่า สุขภาวะทางปัญญาคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาสุขภาวะในด้านอื่นๆ อย่างแท้จริง ผลวิจัยนี้เปรียบเสมือนการวางอิฐก้อนแรกไปสู่การวางรากฐานทางวิชาการด้านสุขภาวะทางปัญญาและการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจะมีประโยชน์มากหากมีการต่อยอดงานวิจัยโดยการนำไปประยุกต์ใช้ในการเคลื่อนงานและพิสูจน์ให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์"
ด้านทีมผู้วิจัย ซึ่งนำโดย ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี และ ผศ.ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ อาจารย์จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักจิตวิทยาจาก JAI Center ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานวิจัยครั้งนี้ว่า "ปกติคนเราเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายอยู่แล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือเรามักทำได้ในระยะสั้น แล้วก็ล้มเลิกไป การวิจัยในครั้งนี้จึงมุ่งที่จะหาคำตอบว่า เราจะทำอย่างไรให้เกิดพฤติกรรมการออกกำลังกายที่ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยเราให้ความสำคัญไปที่ตัวแปรที่สำคัญคือ เรื่องของใจ ซึ่งในงานวิจัยครั้งนี้ให้คำนิยามเรื่องของใจใน 2 มิติ คือ ในด้านของสุขภาวะทางปัญญา และในด้านความผาสุกทางจิตใจ สุดท้ายเราได้ผลวิจัยยืนยันออกมาเป็นโมเดลที่ชัดเจนว่า สุขภาวะทางปัญญา มีผลให้เกิดการเพิ่มกิจกรรมทางกาย โดยมีตัวแปรส่งผ่านคือปัจจัยทางจิตวิทยา ซึ่งผลจากการค้นพบโมเดลนี้จะช่วยทำให้ผู้ที่ทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพทั้งใจและกาย มองเห็นความสัมพันธ์ในเรื่องนี้อย่างเป็นเหตุเป็นผล สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดให้เกิดการดูแลสุขภาวะให้ครบทุกมิติได้ เช่น ในกลุ่มของผู้ที่สนใจด้านสุขภาวะทางปัญญา สติตื่นรู้ ก็สามารถนำไปเพิ่มมิติสุขภาวะทางกายให้เพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่ผู้ที่ทำงานด้านการออกกำลังกาย ก็สามารถผนวกเรื่องของสุขภาวะทางปัญญาเข้าไป ทำให้เกิดการสร้างพฤติกรรมการออกกำลังกายที่ต่อเนื่องและยั่งยืนได้มากขึ้น ฯลฯ ตรงนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการทำงานในเชิงบูรณาการทางความรู้ ซึ่งจะส่งผลสุดท้ายทำให้คนมีชีวิตสุขภาวะที่สมดุลในทุกมิติ"ภายในงาน ยังมีการเรียนรู้เรื่องสุขภาวะทางปัญญา การแบ่งปันประสบการณ์และเรื่องราวบันดาลใจจากแขกรับเชิญ อาทิ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส., โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงหนุ่มมากฝีมือ ที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ที่หันมาให้ความสำคัญกับการวิ่ง เป็นไอดอลสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ออกมาวิ่งเป็นจำนวนมาก, ออย – ยุวดี พันธ์นิคม หญิงแกร่งที่แม้จะต้องตัดปอดและขาไป 1 ข้าง แต่เธอก็สามารถใช้พลังใจก้าวข้ามผ่านขีดจำกัด วิ่ง 10 กิโลเมตรแรกของชีวิตได้สำเร็จ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมการ์ดสำรวจความสุข Happiness Explorer ให้กับผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสสำรวจความสุขด้วยตนเอง โดยกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความสนใจเข้าร่วมจากผู้นำทางความคิดหรือ Influencer ชื่อดังในโลกออนไลน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาณุมาศ ทองธนากุล นักเขียนนามปากกา 'ใบพัด', พลอย – สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักเขียนพิการทางสายตา เจ้าของผลงาน 'จนกว่าเด็กปิดตาจะโต', โค้ชเป้ง – สาธิก ธนะทักษ์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา หนึ่งในคณะวิ่งโครงการก้าวคนละก้าวกับตูน บอดี้สแลม เจ้าของเพจ Ez2fit, โจ๋ว – ชยพัทธ์ วิสาสะ นักเขียน / บล็อกเกอร์ผู้สร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตผ่านเพจ THINK เดียวก็เปลี่ยนได้ และ ทิพย์เกษร สิริโพธิวงศ์ และ นครินทร์ ดีจิตกาศ ทีมเยาวชนคนรุ่นใหม่จากเพจเกลานิสัยอันตราย
และพิเศษสุด เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ สำหรับประชาชนทั่วไป ธนาคารจิตอาสาและความสุขประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ สสส. ได้พัฒนา 'Quiz สำรวจใจ' แบบสอบถามออนไลน์ให้ทุกคนสามารถเข้าไปทำได้ง่าย ๆ ที่ เว็บไซต์ความสุขประเทศไทย www.happinessisthailand.com เพื่อเรียนรู้และเข้าใจตนเองว่ามีความสนใจและเหมาะกับการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาในเส้นทางใด ไม่ว่าจะเป็น ความสุขจากการเคลื่อนไหวร่างกาย ความสุขจากการทำงานศิลปะ ความสุขจากการสัมผัสธรรมชาติ ความสุขจากการทำงานจิตอาสา ความสุขจากความสัมพันธ์ ความสุขจากการทำงาน ความสุขจากการศึกษาเรียนรู้ หรือความสุขจากการภาวนา เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความสุขให้กับตนเองต้อนรับปีใหม่นี้ต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit