รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาด้านปศุสัตว์ให้แก่โครงการโคบาลบูรพา จำนวน 1,329.30 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ จ.สระแก้ว ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไม่เหมาะสมหรือให้ผลผลิตต่ำมาเลี้ยงปศุสัตว์ ที่สามารถสร้างรายได้ สร้างความมั่นคง และเป็นอาชีพที่ยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้ออย่างครบวงจรในพื้นที่ภาคตะวันออก เป็นการเพิ่มปริมาณโคเนื้อให้เพียงพอต่อการบริโภคในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ปัจจุบันโครงการโคบาลบูรพา มีเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อ 6,000 รายๆ ละ 5 แม่ รวมทั้งสิ้น 30,000 ตัว และแพะเนื้อ 100 รายๆ ละ 32 ตัว รวม 3,200 ตัว ซึ่งในอนาคตรัฐบาลมีเป้าหมายว่าโคเนื้อและแพะเนื้อจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น สามารถส่งไปจำหน่ายยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย หรือส่งออกไปยังต่างประเทศได้
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เกษตรกรยังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเกษตรกร จึงได้อนุมัติโครงการส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร อาทิ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช ทุกโครงการจะต้องมีตลาดรองรับ และมีการรวมกลุ่มกัน โดย ธกส. สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยล้านละ 100 บาทต่อปี รวมถึงกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสนับสนุนบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร อีกทั้งมีประกันความเสียหายให้ เป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงภัยแล้ง มีน้ำน้อย ภายในระยะเวลา 4 เดือน นอกจากนี้ในวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค. 62 จะมีการจัดประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ระหว่าง กรมปศุสัตว์ และ ธ.ก.ส. ณ บึงฉวากรีสอร์ท อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ก่อนจะเริ่มคิกออฟโครงการดังกล่าวในวันอังคารที่ 17 ธ.ค. 62 ณ โดยขับเคลื่อนใน จ.ขอนแก่น เป็นแห่งแรกต่อไป
ทั้งนี้ ในด้านการผลิตโคเนื้อนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีการเลี้ยงโคเนื้อประมาณ 5.8 ล้านตัว ผลิตเพื่อการบริโภคได้ปีละ 1 ล้านตัว แต่มีความต้องการบริโภค ปีละ 1.2 ล้านตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปริมาณโคเนื้อผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งถ้าจะให้เพียงพอต้องเพิ่มแม่โค อย่างน้อย 500,000 แม่ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เกษตรกรจะหันมาประกอบอาชีพการเลี้ยงโค ซึ่งจะจำหน่ายได้ราคาดี ขณะเดียวกันตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนมีความต้องการโคเนื้อมีชีวิตเป็นจำนวนมาก หากไทยสามารถพัฒนายกระดับศักยภาพการเลี้ยงโคเนื้อได้สำเร็จ จะทำให้ฝันกลายเป็นจริงได้ สามารถแก้ปัญหาการผลิตภาคเกษตรทั้งระบบ สามารถพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงโคเนื้อให้ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงให้ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงจะทำให้เกษตรกรพ้นจากความยากจน และมีอาชีพมั่นคง ความเป็นอยู่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนต่อไป