การลดภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ อาจทำให้ไทยได้ประโยชน์ลดลงจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) เนื่องจากสินค้าจีนจะกลับเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น รวมทั้ง มีผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรบางประเภทอยู่บ้างเพราะจีนต้องเพิ่มการสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯมากขึ้น การย้ายฐานการลงทุนบางส่วนมายังอาเซียนอาจมีการทบทวนใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากผลกระทบสงครามการค้าจะเกี่ยวพันกับแนวโน้มว่า สงครามทางการค้าระหว่างจีนสหรัฐอเมริกาจะยืดเยื้อหรือไม่ ข้อพิพาทและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะพัฒนาไปในรูปแบบใดหลังการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ยุคใหม่ แนวโน้มปีหน้า ปัจจัยภายนอกจะเป็นบวกมากขึ้น แต่ปัจจัยภายในโดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเมืองอันเกิดจากการไม่ยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมอาจส่งผลสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นของภาคการลงทุนและทำให้เกิดความขัดแย้งและวิกฤติทางการเมืองได้ ผลกระทบเชิงลบเหล่านี้จะหักล้างปัจจัยบวกจากสัญญาณการฟื้นตัวของการค้าโลกและทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสจากการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจโลกได้
16.30 น. 15 ธ.ค. 2562 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฎิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า สัญญาณสงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐฯมีทิศทางดีขึ้นจากการบรรลุข้อตกลงบางส่วน ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ การค้าโลกและตลาดการเงินโดยรวม คาดทำให้จีดีพีโลกและระบบการค้าโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีหน้า การลงทุนในตลาดการเงินโลกคึกคักมากขึ้น ตลาดหุ้นมีความน่าสนใจมากขึ้นน่าจะมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องปลายปีถึงต้นปีหน้า ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยว
โดยภาพรวม ขณะที่การเจรจาเรื่อง Brexit มีความชัดเจนขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง ลดความไม่แน่นอนจากผลกระทบเรื่อง Brexit ได้ในระดับหนึ่ง รายละเอียดข้อตกลงบางส่วนของการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯเฟสแรก ได้แก่ สหรัฐฯ เสนอว่า 1. ยกเลิกการขึ้นภาษี 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ครอบคลุมสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวิดีโอเกมส์ โทรทัศน์ วิทยุ จอคอมพิวเตอร์ และสินค้าอื่นผู้บริโภคอื่นๆ เช่น นาฬิกา ของเล่น รองเท้าและเครื่องแต่งกาย 2. ปรับลดภาษีสินค้า 1.2 แสนล้านดอลลาร์เหลืออัตรา 7.5% (จากเดิม 15% และบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 62) ทั้งนี้ จะยังคงภาษี 25% สำหรับสินค้ามูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนตกลงในประเด็น 1. การซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ในเวลา 2 ปี โดยจีนเน้นย้ำว่า จะต้องสอดคล้องกับความต้องการตลาดและเป็นไปตามข้อตกลงภายใต้ดับบลิวทีโอ 2. เปิดเสรีภาคการบริการ ได้แก่ เปิดเสรีการเงินการธนาคาร การประกันภัย และหลักทรัพย์ 3. ปรับเปลียนกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี 4. ไม่ดำเนินนโยบายค่าเงินที่สร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมกันนี้สหรัฐฯ ประกาศเดินหน้าเจรจาข้อตกลงระยะสองต่อ หากการเจรจาเฟสสองสามารถบรรลุเป้าหมายภายในกลางปีหน้า จะส่งผลให้ระบบการค้าโลกและเศรษฐกิจกับเข้าสู่การขยายตัวตามปรกติ ช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง และสิ่งมีชีวิต/ส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต ขณะที่ การลดภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ อาจทำให้ไทยได้ประโยชน์ลดลงจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) เนื่องจากสินค้าจีนจะกลับเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น ส่วนกลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่ทดแทนสินค้าจีนได้ดีในช่วงที่ผ่านมาจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก เหล็กและอลูมิเนียม และของใช้ในบ้านและสำนักงานคงได้รับผลกระทบบ้าง แต่การขยายตัวของส่งออกไปทั่วโลกจะดีขึ้นและภาพรวมของการส่งออกไปสหรัฐฯและจีนจะเพิ่มขึ้นจากการเติบโตที่สูงขึ้นในปีหน้า
ส่วนการเจรจาเรื่อง Brexit มีความชัดเจนขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง ลดความไม่แน่นอนจากผลกระทบเรื่อง Brexit ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งไทยควรเตรียมการในการเจรจาเชิงรุกเพื่อจัดทำเอฟทีเอกับสหราชอาณาจักร พร้อมกับ การเจรจาทำเอฟทีเอกับอียู โดยการทำข้อตกลงใดๆต้องอยู่บนพื้นฐานของการตกลงเจรจาที่มีข้อมูลและฐานการศึกษาวิจัย เพื่อทำให้การจัดทำเอฟทีเอเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
แนวโน้มปีหน้า ปัจจัยภายนอกจะเป็นบวกมากขึ้น แต่ปัจจัยภายในโดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเมืองอันเกิดจากการไม่ยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมอาจส่งผลสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นของภาคการลงทุนและทำให้เกิดความขัดแย้งและวิกฤติทางการเมืองได้ ผลกระทบเชิงลบเหล่านี้จะหักล้างปัจจัยบวกจากสัญญาณการฟื้นตัวของการค้าโลกและทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสจากการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจโลกได้
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า การย้ายฐานการลงทุนบางส่วนมายังอาเซียนอาจมีการทบทวนใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากผลกระทบสงครามการค้าจะเกี่ยวพันกับแนวโน้มว่า สงครามทางการค้าระหว่างจีนสหรัฐอเมริกาจะยืดเยื้อหรือไม่ ข้อพิพาทและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะพัฒนาไปในรูปแบบใดหลังการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ยุคใหม่ ภูมิภาคอาเซียนโดยรวมนั้นยังคงเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจอยู่เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยสูงกว่าภูมิภาคอื่น ขณะที่ สิทธิประโยชน์ทางภาษี โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน ค่าจ้างแรงงาน สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ ส่วนแบ่งมูลค่าส่งออกในตลาดโลก ความยากง่ายในการทำธุรกิจ ของ ภูมิภาคอาเซียนโดยภาพรวมก็อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนามและไทย ไทยนั้นจะมีการปัญหาเรื่อง Rule of Law และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เพราะประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit