นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมแร่ธาตุ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม โดยในภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าการซื้อขายแร่ระหว่างกันประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการซื้อขายแร่ทั้งหมด หรือประมาณร้อยละ 9 ของมูลค่าการซื้อขายสินค้าในประเทศอาเซียน ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมาก กับอุตสาหกรรมแร่ธาตุ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเทคโนโลยี ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมแร่ธาตุ และยกระดับการค้าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมแร่ธาตุของอาเซียน รวมถึงการปรับแผนให้สอดรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดการประชุมรัฐมนตรีแร่ธาตุอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้องขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านแร่ธาตุอาเซียน (ASEAN Minerals Cooperation) ในเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาด้านแร่ธาตุในประเทศสมาชิกอาเซียน
"ขอยืนยันว่าแร่ธาตุมีความสำคัญต่อการพัฒนาภูมิภาคของเรา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมความร่วมมือด้านแร่ธาตุอาเซียนในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับการค้าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมแร่ธาตุของอาเซียน รวมถึงการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการพัฒนาเหมืองแร่ และก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่ธาตุที่ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ธาตุแบบยั่งยืน และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเจเนอเรชั่น (Generation) ในอนาคตต่อไป" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
นอกจากนี้ นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีด้านแร่ธาตุอาเซียน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 (The Seventh ASEAN Ministerial Meeting on Minerals : The 7th AMMin) โดยเป็นการประชุมเพื่อรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือด้านแร่ธาตุอาเซียนจากที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแร่ธาตุอาเซียน (The 19th ASEAN Senior Officials Meeting on Minerals : The 19th ASOMM) ที่จัดขึ้นในคราวเดียวกัน รวมทั้งหารือแนวทาง การดำเนินงานในอนาคต เพื่อกำหนดเป็นแนวนโยบายให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแร่ธาตุอาเซียนดำเนินการต่อไป โดยที่ประชุม ASOMM ในครั้งนี้ได้ร่วมกันพิจารณาผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านแร่ธาตุอาเซียน ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2559 - 2568) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2559 - 2563) หรือ ASEAN Minerals Cooperation Action Plan III (2016 - 2025) Phase I (2016 - 2020) : AMCAP III PHASE I และหารือถึงปัญหา/อุปสรรคของการดำเนินงาน ตลอดจนพิจารณาผลความร่วมมือ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาฐานข้อมูลด้านแร่ 2) การพัฒนาด้านแร่อย่างยั่งยืน 3) การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในการพัฒนาด้านแร่ และ 4) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนด้านแร่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ASOMM ยังได้เปิดโอกาสให้สหพันธ์สมาคมเหมืองแร่แห่งอาเซียน (ASEAN Federation of Mining Association : AFMA) คณะกรรมการประสานงานเกี่ยวกับการสำรวจทรัพยากรธรณีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ (Coordinating Committee for Geoscience Programmes in East and Southeast Asia : CCOP) และองค์กรผู้แทนรัฐบาลนานาชาติด้านเหมืองแร่ แร่ ธาตุ โลหะ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (The Intergovernmental Forum on Mining, Minerals, Metals and Sustainable Development : IGF) ได้รายงานความคืบหน้า การพัฒนาอุตสาหกรรมแร่ธาตุในส่วนที่เป็นภารกิจของแต่ละองค์กรให้ที่ประชุม ASOMM ได้รับทราบ รวมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือในอนาคตกับองค์กรดังกล่าวด้วย
การประชุมครั้งนี้ มีการประชุมที่เกี่ยวข้อง คือ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแร่ธาตุร่วมกับ 3 ประเทศ คู่เจรจาครั้งที่ 12 หรือ The 12th ASEAN Senior Officials Meeting on Minerals+3 (China, Japan, Republic of Korea) Consultation : The 12th ASOMM+3 เป็นการประชุมระหว่างผู้แทนภาครัฐจากประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้แทนจากประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อพิจารณาความคืบหน้าความร่วมมือด้านวิชาการตาม ASOMM+3 Work Plan ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการทำเหมืองแร่เพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้ มีการประชุมที่สำคัญอีกเวทีหนึ่ง คือ การประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีเด่นระดับอาเซียน หรือ The 2nd ASEAN Mineral Awards Board of Judges Meeting หรือ Board of Judges : BOJ ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อตัดสินรางวัล ASEAN Mineral Awards
"รางวัล ASEAN Mineral Awards มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่อย่างยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาด้านแร่ธาตุระหว่างประเทศสมาชิก โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่จากประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับการคัดเลือกในเบื้องต้นมีจำนวน 16 บริษัท ซึ่งหนึ่งในนั้นมีบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ผู้ประกอบการจากประเทศไทยได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าร่วมนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการด้วย" อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับประเทศที่เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซียสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยการประชุมระดับอาเซียนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 13 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) กรุงเทพมหานคร
HTML::image( HTML::image( HTML::image(