เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถด้านกีฬาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
(ร.9) และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนไทยเห็นคุณค่าและความสำคัญของการกีฬา รัฐบาลไทยจึงกำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี เป็น ''วันกีฬาแห่งชาติ''
ปัจจุบันการแข่งขันกีฬาทุกประเภทและทุกระดับมีการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ในการพัฒนานักกีฬามากขึ้น หลังจากที่หลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬาหลักสูตรแรกในประเทศไทยได้รับการจัดตั้งขึ้น ณ โรงเรียนกีฬาเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภายใต้การบริหารของ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิชัย วนดุรงค์วรรณ ผู้อำนวยการ (พ.ศ.2529 - 2539) จนเติบโตขึ้นเป็น วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ.2539 การเติบโตของวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนแวดวงการศึกษาและสังคมกีฬาไทยให้การยอมรับอย่างแพร่หลาย ด้วยความเชื่อที่ว่า ความรู้ทางด้านพลศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอในการพัฒนาการกีฬา แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบูรณาการความรู้กับศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน และแพทยศาสตร์
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้บริหารผู้ทรงคุณวุฒิมาแล้ว 6 คน นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ คณบดีคนปัจจุบัน ก็ยังคงยืนยันว่า "การแข่งขันกีฬาจะประสบความสำเร็จโดยสมบูรณ์ไม่ได้ หากไม่มีการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ในการพัฒนานักกีฬา โดยมีเวชศาสตร์การกีฬาเป็นพื้นฐาน นอกจากการฝึกกีฬา (Coaching and Training) แล้ว ยังมีการศึกษาด้านโภชนาการ จิตวิทยาการกีฬา สรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์ ไปจนถึงชีวกลศาสตร์กลไกการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาอีกด้วย
"ถ้าเราไม่ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาพัฒนานักกีฬา โอกาสได้เหรียญเราจะไม่มีเลย เพราะผู้ชนะคนอื่นใช้ แต่ใช้แล้วจะชนะหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่ใช้เลย เราก็จะไม่มีทางไปถึงฝันได้เลย เหมือนเราออกไปรบ ถ้าเราไปตัวเปล่า ไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อม โอกาสชนะจะน้อยมาก" นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ กล่าว
คุณอำภา สุจิณโณ บัณฑิตรุ่นแรกของหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตนักกีฬาแห่งชาติ (ยูโด) ที่สามารถทำเหรียญได้ถึง 7 ปีซ้อน ปัจจุบันเป็นนักวิชาการประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า หลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนานักกีฬา ซึ่งจะต้องรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ การเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬาทำให้เรารู้ศาสตร์ของแต่ละประเภท กีฬา แล้วเราสามารถเอาศาสตร์นั้นมาต่อยอดตัดสินใจว่าจะเล่นรูปแบบใด นำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้หมด ซึ่งตรงนี้สามารถทำให้นักกีฬาก้าวสู่ระดับความเป็นเลิศได้
ดร.กุสุมาลย์ (จินตนา) ประเสริฐศรี หรือ "ครูไก่" อุปนายกสมาคมกีฬายิมนาสติกแห่งประเทศไทย และเป็นบัณฑิตรุ่นแรกเช่นกัน กล่าวว่า วิทยาศาสตร์การกีฬาทำให้กีฬาของชาติมีการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศได้เป็นอย่างดี เวลาชิงชัยได้เหรียญทอง ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่านักกีฬาเล่นเก่ง แต่หมายถึงวิวัฒนาการด้านการกีฬาของประเทศนั้นด้วย ซึ่งนอกจากเพื่อความเป็นเลิศแล้ว เรื่องสุขภาพของคนในชาติก็เป็นเรื่องสำคัญ หากประชาชนเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย จะทำให้มีสุขภาพร่างกายที่ดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติแรกของการเป็นประชาชนที่มีคุณภาพ
"คุณบ๊วย" เชษฐวุฒิ วัชรคุณ บัณฑิตรุ่นที่ 9 ของหลักสูตร อดีตนักกีฬารักบี้ทีมชาติไทย ที่ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยรูปลักษณ์ที่แตกต่างอย่างนักกีฬา ได้กล่าวฝากว่า นอกจากร่างกายที่ดีแล้ว หัวใจนักกีฬา "รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย" ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ในชีวิตจริงของคนเรา การแข่งขันเกิดขึ้นได้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกับตัวเองหรือคนรอบข้าง แต่ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องชนะเสมอไป การแพ้ก็สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ได้เช่นกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประณมพร โภชนสมบูรณ์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญาและกิจการนักศึกษา ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันมีบัณฑิตที่จบหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ประมาณ 2,000 คน ที่ไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะการพัฒนากีฬาเท่านั้น แต่มีส่วนส่งเสริมสุขภาพประชาชนไทยให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวิชาการและองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อความเป็นเลิศและสุขภาวะที่ดีของประชาชนไทยตามพระราชดำรัสตลอดไป
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร.0-2849-6210
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit