อีสท์ วอเตอร์ เผย 9 เดือนรายได้ตามเป้าขยายธุรกิจน้ำครบวงจรต่อเนื่อง พร้อมรับมือหากเกิดภัยแล้ง

13 Dec 2019
อีสท์ วอเตอร์ เผยผลการดำเนินงานสำหรับ 9 เดือนแรก ปี 2562 มีรายได้จากการขายและบริการ 3,520.24 ล้านบาท โตขึ้น 11.02% เทียบปีก่อน มุ่งหน้าขยายธุรกิจน้ำครบวงจรอย่างต่อเนื่อง และเตรียมมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาภัยแล้งและป้องกันการขาดแคลนน้ำในอนาคต เดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านน้ำ สู่ผู้นำการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรของประเทศ

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยผลการดำเนินงานสำหรับ 9 เดือนแรก ปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการรวมทั้งสิ้น 3,520.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 349.33 ล้านบาท หรือ 11.02% เมื่อเปรียบเทียบกับ 9 เดือนแรก ปี 2561 เนื่องจากปริมาณน้ำดิบจำหน่ายเพิ่มขึ้น มีกำไรสุทธิ จำนวน 838.86 ล้านบาท ลดลง 42.17 ล้านบาท หรือ 4.79%

สำหรับปริมาณยอดส่งจ่ายน้ำดิบในเดือนมกราคม – กันยายน 2562 มีปริมาณอยู่ที่ 235.33 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 47.20 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 อยู่ที่ 188.13 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยสามารถแยกเป็นกลุ่มลูกค้าเป็นนิคมอุตสาหกรรม 47% กลุ่มอุปโภคบริโภค 26% กลุ่มสวนอุตสาหกรรม 12% กลุ่มกิจการประปาของกลุ่มบริษัท 10% กลุ่มโรงงานทั่วไป 5% มีรายได้จากการขายน้ำดิบสำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2562 จำนวน 2,137.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 331.85 ล้านบาท หรือ 18.38% เมื่อเปรียบเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2561 สาเหตุหลักจากรายได้น้ำดิบที่เพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำของกลุ่มลูกค้าอุปโภคบริโภค

ที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์ ให้บริการน้ำแบบครบวงจร โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในระบบผลิต งานบำรุงรักษา ตลอดจนการให้บริการด้านวิศวกรรมอย่างครบวงจร การให้บริการติดตั้งที่เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ เน้นการบริการจัดหาแหล่งน้ำดิบ ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้น้ำ บริการติดตั้งระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรม ให้บริการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ให้บริการติดตั้งระบบน้ำรีไซเคิลโดยนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ในระบบอุตสาหกรรม ทั้งในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี และหาโอกาสในธุรกิจอย่างต่อเนื่องในการให้บริการแก่พื้นที่นอกเขตอีอีซีด้วย

ในฐานะที่อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก มีโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบครอบคลุมพื้นที่ในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก มีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำและรักษาความสมดุลของอ่างเก็บน้ำผ่านโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบความยาว 491.8 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเข้ามาเสริมในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา มีการประสานงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เน้นการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำหลักต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยจะดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป