นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า "กิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน FAI-FAH for Communities เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้บริหาร และพนักงานอาสาสมัครทีเอ็มบีทั่วประเทศ โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องเริ่มต้นในปี 2552 จาก 4 โครงการ จนมาถึงในปีนี้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 40 โครงการ ซึ่งมีชาวชุมชนร่วมกิจกรรมกว่า 50,000 คน ล้วนเป็นโครงการดีๆ ที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนทั่วประเทศ จนได้รับรางวัล Best Bank for CSR Thailand 2019 จากAsiamoney นิตยสารชั้นนำด้านการเงิน และการลงทุน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทีเอ็มบีที่ได้ดำเนินโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นความสำเร็จของอาสาสมัครทีเอ็มบีทุกคน"
"นอกจากการได้ออกไปทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน ด้วยการเป็น "ผู้ให้" แล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการยัง "ได้รับ" สามทักษะสำคัญในการใช้ชีวิตอีกด้วย เริ่มจาก 1.ทักษะความเป็นผู้นำเพราะคนที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าโครงการต้องได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมทีม ต้องกล้าคิดกล้าตัดสินใจ 2.ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม แม้จะมาจากต่างสาขากัน ถือเป็นการช่วยพัฒนาทักษะที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริงด้วย และ3.ทักษะการฝึกเรื่องกระบวนการคิด และความเข้าใจ เนื่องจากในการเริ่มต้น ทุกคนไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ปัญหาคืออะไร ต้องคิด ต้องจินตนาการ ซึ่งทักษะนี้นำมาใช้ตอบโจทย์ของเหล่าอาสาสมัครทีเอ็มบีในการทำงานที่ต้องรู้ถึงความต้องการของลูกค้า ดังนั้น การได้ไปอยู่กับชุมชนทำให้เปิดมุมมองใหม่ๆ มองเห็นถึงปัญหา และนำมาระดมความคิดและแก้ไข เพื่อนำไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ผมเชื่อว่าโครงการเหล่านี้จะทำให้พนักงานในองค์กรมีปรัชญาที่ดีร่วมกันสู่การพัฒนาองค์กรให้แข็งแกร่งต่อเนื่อง และที่สำคัญต้องพัฒนาเพื่อให้สังคมยั่งยืนด้วย" นายปิติ กล่าว
ด้านเสียงสะท้อนจากอาสาสมัครทีเอ็มบี นายกิรติ บุณยโยธิน ผู้จัดการเขตธุรกิจสาขา พญาไท ในฐานะ "แชมเปี้ยน" ผู้รับหน้าที่ในการถ่ายทอดประสบการณ์ ให้คำแนะนำแก่น้องใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการฯ เล่าว่า "เข้าร่วมโครงการนี้หลายปีแล้ว จึงมีประสบการณ์พอที่จะให้คำปรึกษาหรือเทคนิคในการทำงานกับน้องๆ เช่น การเลือกพัฒนาโครงการให้เกิดประโยชน์กับชุมชนจริงๆ สามารถที่จะส่งต่อ และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนได้ สิ่งที่ยากของทุกคนน่าจะเป็นการเริ่มต้น เพราะครั้งแรกหลายคนรู้สึกคล้ายกันว่าสิ่งนี้อยู่นอกเหนือจากงานที่ต้องรับผิดชอบ แต่เมื่อได้เข้าไปทำแล้ว ความรู้สึกจะเปลี่ยนเป็นความภูมิใจ ส่วนเรื่องเวลา ทีมสามารถวางแผนแบ่งงานให้แต่ละคนตามความถนัด กระจายงานเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยก่อนลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน ก็จะมีการวางแผน ทำให้ใช้เวลาไม่มากเกินจำเป็น และการที่โครงการไฟ-ฟ้าได้ดำเนินการเพื่อเปลี่ยนชุมชนอย่างยั่งยืนมาต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนรู้สึกว่าอาสาสมัครทีเอ็มบีได้เข้ามาพัฒนา เพื่อทำสิ่งดีๆ โดยที่ไม่ได้หวังในเรื่องธุรกิจ แต่อยากส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับชุมชน ผมภูมิใจที่ได้รับโอกาสตรงนี้ รู้สึกว่ามีความสุขกับการให้และทำด้วยใจ สามารถส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับชุมชนได้ และการที่ได้ลงไปร่วมแรงร่วมใจทำงานกับชุมชน เพื่อช่วยกันพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน สิ่งนี้คือจุดมุ่งหมายหลักของเราชาวอาสาสมัครทีเอ็มบีครับ"
นางสาวกุลพิชฌาย์ พิรามวิทวัส ผู้จัดการเขตธุรกิจสาขานครศรีธรรมราช หนึ่งในเจ้าของโครงการ "บ้านไม้ขาว ตำบลต้องห้าม พลาด" ที่มุ่งมั่นอนุรักษ์ผืนนาแห่งสุดท้ายของเกาะภูเก็ต โดยพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งอนุรักษ์วิถีชุมชน และสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน เล่าให้ฟังว่า "ครั้งแรกชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจแนวคิดของโครงการมากนัก เพราะต้องการต่อยอดโครงการสามล้อเดิมที่มีอยู่ และหลายครอบครัวมีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพดังกล่าว อาสาสมัครจึงเข้าไปจุดประกายให้เห็นว่าภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว และด้วยความเป็นนาผืนแห่งสุดท้ายที่มีความโดดเด่น สามารถนำมาต่อยอดด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างให้เป็นรายได้หลักในอนาคตได้ จากเดิมที่บริเวณนี้ไม่มีบรรยากาศของแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก จึงสร้างร้านค้า และร้านกาแฟยื่นลงไปในผืนนา ทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว และกลายเป็นจุดเช็คอินที่ได้รับความนิยมอีกหนึ่งแห่งของชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจมากขึ้น และนำมาสู่ความร่วมแรงร่วมใจกันทำผืนนาแห่งสุดท้ายนี้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในที่สุด"
"ส่วนการทำงานมีการแบ่งงานกันรับผิดชอบอย่างชัดเจน รวมทั้งการแบ่งเวลาระหว่างในการทำงานประจำ และการทำงานอาสาสมัคร ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงวันส่งมอบ ซึ่งการมาร่วมโครงการนี้นอกจากความภูมิใจแล้ว ยังทำให้กล้าคิดกล้าทำมากขึ้น จากสิ่งที่แทบมองไม่เห็นภาพมาก่อน กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เมื่อก่อนมีความฝันอยากทำอะไรมากมาย แต่ไม่ได้ลงมือทำ เพราะคิดว่าเกิดขึ้นไม่ได้ แต่วันนี้ได้เห็นความสำเร็จจากสิ่งที่มุ่งมั่นช่วยกันทำ ทำให้ช่วยสร้างความมั่นใจ และสามารถนำความมุ่งมั่นมาใช้เป็นแนวคิดในการทำงานได้"
"เมื่อเรามาร่วมทำงานกับชุมชนจริงๆ รู้เลยว่าเราไม่ได้เก่งคนเดียว ชุมชนทำให้เกิดขึ้น เราเพียงแค่เข้ามาขับเคลื่อน การทำงานแบบนี้มีประโยชน์มาก ก่อนตัดสินใจเข้ามาเป็นอาสาในปีแรกก็ลังเล แต่พอเราได้ร่วมมือ และลงมือทำร่วมกับอาสาสมัครทีเอ็มบีคนอื่นๆ เราเห็นภาพจริง ทำให้รู้สึกว่าต้องมีปีต่อไป เพื่อให้ชุมชนอื่นได้รับโอกาสนี้ด้วย สุดท้ายอยากบอกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่เราทำสิ่งเล็กๆ ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ได้ เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งนี้จะเกิดประโยชน์อะไรกับคนข้างหน้า ถ้าเราไม่ลงมือทำ"
นายมณเฑียร ฉันทศาสตร์รัศมี เจ้าหน้าที่บริหาร บริหารช่องทางดิจิทัล ทีเอ็มบี เป็นอาสาสมัครทีเอ็มบี จากสำนักงานใหญ่ หัวหน้าทีมในโครงการ "ท่องเที่ยววิถีชุมชน ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103" ตั้งอยู่ที่ชุมชนอิสลามริมคลองเจริญกรุง 103 ที่ยังคงอนุรักษ์วิถีชุมชน วัฒนธรรม และประเพณีดั้งเดิมไว้ มีจุดเด่นเรื่องอาหารฮาลาลแท้ๆ ที่หาทานยากในปัจจุบัน โดยได้เข้าไปช่วยต่อยอดชุมชนให้มีความโดดเด่น และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้ บอกเล่าถึงการทำงานว่า การลงพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน ซึ่งชุมชนนี้ต้องการปกป้องพื้นที่และวัฒนธรรม รวมทั้งวิถีที่อยู่อาศัยที่เคยอยู่กันมา ไม่ใช่เรื่องของทุนทรัพย์ ดังนั้น ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ยั่งยืน จึงมองในเรื่องการพัฒนาตลาดให้เป็นที่รู้จัก ใช้สิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้วนำมาเป็นจุดเด่น และต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้คนมารู้จักวิถีชุมชนในอีกรูปแบบหนึ่ง สามารถสร้างอาชีพ และรายได้ในกับคนในชุมชนได้"
มณเฑียร บอกด้วยว่า "การทำงานในทีมทุกคนสนุกมาก เพราะเป็นเรื่องวิถีการท่องเที่ยวให้ชุมชน บางคนทำงานหน้าคอมพิวเตอร์อยู่กับข้อมูลมาตลอด ก็เปลี่ยนมานั่งวาดแผนที่ ทำให้เห็นถึงความสามารถของแต่ละคนที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ และสิ่งที่นำมาปรับใช้กับการทำงาน คือ การบริหารจัดการทีม โดยก่อนหน้านี้ทุกคนต่างทำงานของตัวเอง แต่เมื่อมารวมเป็นทีมเล็กๆ ก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และช่วยเหลือกัน สามารถนำมาปรับกับการทำงานได้เป็นอย่างดี"
สามารถติดตามกิจกรรมดีๆ ของอาสาสมัครทีเอ็มบี เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจ หรือสนับสนุนการ "เปลี่ยน" เพื่อสังคมที่ยั่งยืน ได้ที่ www.tmbfoundation.or.th และInstagram: makethedifference_by_tmb
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit