ม.มหิดล ปลูก "หัวใจความเป็นมนุษย์" ให้กับเยาวชน จากงานจิตอาสา

24 Dec 2019
หลังจากความสูญเสีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จากเหตุการณ์ "สึนามิ" วัน "จิตอาสา" จึงก่อกำเนิดขึ้นในวันถัดมา คือ วันที่ 27 ธันวาคม ซึ่งถือเป็นวันที่จิตอาสาได้ผลิบาน
ม.มหิดล ปลูก "หัวใจความเป็นมนุษย์" ให้กับเยาวชน จากงานจิตอาสา

จิตอาสา คือ ผู้ที่มีจิตใจแห่งการให้ ผู้เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังใจ ตลอดจนกำลังทรัพย์ เพื่อร่วมสร้างสิ่งดีๆ ที่จะทำให้สังคมเกิดการพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งสิ่งที่ได้ คือ ความสุขจากการได้เป็นผู้ให้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลผู้ทรงคุณวุฒิ ได้กล่าวไว้ในกรณีศึกษา "การทำงานอาสาสมัคร" ว่า "…ขณะนี้สิ่งที่สังคมต้องการและโหยหา คือ โลกของหัวใจความเป็นมนุษย์ ที่ต้องการน้ำใจ ความเมตตากรุณา และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ถ้ามีนักเรียน 10,000 คน มีการบันทึกการทำความดี 10,000 กรณี ถ้าทำทุกปี ทุกโรงเรียน หรือทุกมหาวิทยาลัย จะทำให้คนได้รับรู้ในเรื่องการทำความดีมากขึ้น ความดีก็จะมีพลังเกิดขึ้นในสังคม…"

"ศูนย์อาสาสมัครศิริราช" จัดตั้งขึ้นด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของงานอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม ที่ต้องการปลูกฝังความรู้สึกของการเป็น "ผู้ให้" ไปยังบุคลากรภายในและคนในสังคม ซึ่งที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2547 ได้มีบทบาทในงานบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมมากมาย อาทิ งานด้านการบริการทางการแพทย์และสุขอนามัย การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติ การสังคมสงเคราะห์ และส่งเสริมคุณภาพชีวิต ฯลฯ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร และกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในแต่ละปี ศิริราชต้องดูแลผู้ป่วยถึง 3,500,000 คน ลำพังการให้บริการของเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลอาจไม่ทั่วถึง จึงได้มีการเปิดรับอาสาสมัครจิตอาสาเข้ามาช่วยงาน โดยศิริราชเป็นคณะแพทย์แห่งแรกที่มีหน่วยงานด้านกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR ขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลจิตอาสาที่เข้ามาอย่างเป็นระบบ และป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานจิตอาสานั้นด้วย

คุณสมบัติของอาสาสมัครศิริราชจะต้องมีอายุ 12 ปีขึ้นไป มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจที่จะบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส ซึ่งการทำจิตอาสาในโรงพยาบาล มีความแตกต่างจากการทำจิตอาสาในสถานที่อื่นๆ ตรงที่เราจะได้เรียนรู้ในเรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และที่สำคัญได้เรียนรู้วิธีดูแลผู้ป่วย ซึ่งในการนี้เราต้องป้องกันโรคติดต่อบางอย่าง ทั้งจากผู้ป่วยไปยังจิตอาสา และจากจิตอาสามายังผู้ป่วยด้วย

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นริศ กิจณรงค์ กล่าวต่อไปว่า จิตอาสาส่วนใหญ่มาสมัครด้วยความศรัทธาที่มีต่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งหลังจากได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน Siriraj Connect เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ได้มีการเปิดรับอาสาสมัครที่เป็นเยาวชนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการแนะนำให้ผู้ป่วยสูงวัยได้เรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยี

นางสาวณัฏฐณิชา สายสีดา หรือ "ปิงปอง" อาสาสมัครเยาวชนจิตอาสาศิริราช วัย 17 ปี เล่าว่า ตนได้ใช้เวลาปิดภาคเรียนสมัครเป็นจิตอาสาให้บริการแนะนำผู้ป่วยติดตั้งแอปพลิเคชัน Siriraj Connect พร้อมช่วยเหลือในการลงทะเบียน รู้สึกมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีสมัยใหม่เหมือนอย่างพวกตน เลยรู้สึกเหมือนเป็นลูกหลานที่คอยช่วยเหลือญาติผู้ใหญ่ มีเพื่อนๆ ถามมาบ้างว่าไปทำงานจิตอาสาเหนื่อยไหม บอกเลยว่าถ้าจะเหนื่อยก็แค่เรื่องการเดินทาง แต่ไม่เคยเหนื่อยที่ได้ทำงานช่วยเหลือผู้อื่นด้าน นายศตวรรษ ปัญญา หรือ "ซอล" อาสาสมัครเยาวชนจิตอาสาศิริราช วัย 16 ปี กล่าวว่า งานจิตอาสา เป็นงานที่ต้องใช้ใจทำ แค่เรามีความตั้งใจ ไม่ว่างานอะไรก็ทำได้โดยไม่ต้องมีใครมาคอยบังคับ โดย "ซอล" ได้ใช้เวลาปิดภาคเรียนประจำที่ตึกศรีสังวาลย์ โรงพยาบาลศิริราช คอยดูแลเข็นเก้าอี้รถเข็นผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ "ซอล" บอกรู้สึกประทับใจที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ฟังผู้ป่วยบอกเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย บางรายก็คุยอย่างสนุกสนาน นอกจากได้รู้จักผู้ป่วย ยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่เป็นอาสาสมัครจากต่างสถาบันอีกด้วยการทำงานจิตอาสาได้ประโยชน์ทั้งผู้ที่ต้องการช่วยเหลือ และผู้ที่มาทำงานจิตอาสา ในการพัฒนาทางด้านจิตใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยาวชนจะเกิดการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่จะทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้ในอนาคต

ติดตามข่าว "ศูนย์อาสาสมัครศิริราช" ได้ที่ https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/csr/ หรือ FB: CSR Siriraj

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม

นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

HTML::image( HTML::image( HTML::image(