สศก. แนะพืชทางเลือกหลังนา กำไรดี เพิ่มมูลค่าพื้นที่นาข้าว จ.สิงห์บุรี

24 Dec 2019
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ของพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี พบว่า มีพื้นที่เหมาะสม (S1/S2) สำหรับปลูกข้าว จำนวน 287,652 ไร่ จากการผลิตข้าวนาปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,166.22 บาท/ไร่ ข้าวนาปรัง ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,072.11 บาท/ไร่ ซึ่งปัจจุบัน พบว่า เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างหลากหลายในพื้นที่ช่วงหลังหมดฤดูทำนาหรือทดแทนการทำนาปรัง โดยจะนิยมปลูกพืชหลังนาที่มีอายุสั้น ใช้น้ำน้อย และเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี
สศก. แนะพืชทางเลือกหลังนา กำไรดี เพิ่มมูลค่าพื้นที่นาข้าว จ.สิงห์บุรี

จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) ถึงพืชทางเลือกหลังนาที่น่าสนใจของจังหวัดสิงห์บุรีมีหลายชนิด อาทิ ถั่วลิสงฝักสด แตงโม ข้าวโพดข้าวเหนียว ถั่วเหลืองฝักสด ซึ่งเกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดในอำเภออินทร์บุรี อีกทั้ง ตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยการซื้อขายผลผลิตจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อจากเกษตรกรถึงแหล่งผลิต รวมถึงเกษตรกรบางรายมีการนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดสำคัญในจังหวัด เช่น ตลาดเกษตรกร และตลาดประชารัฐ เป็นต้น หากพิจารณาการผลิตสินค้าแต่ละชนิด พบว่าถั่วลิสงฝักสด ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 15,000 บาท/ไร่/รอบการผลิต ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 85-90 วัน ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 9,000 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้ออยู่ที่ 20 บาท/กก.

แตงโม ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 6,560 บาท/ไร่/รอบการผลิต สามารถปลูกได้เกือบตลอดทั้งปี ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการปลูกคือกันยายนถึงมกราคมของปีถัดไป ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 90-100 วัน ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 8,440 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้ออยู่ที่ 10 บาท/กก.

ข้าวโพดข้าวเหนียว มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 7,060 บาท/ไร่/รอบการผลิต ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 55 - 65 วัน ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 2,940 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้ออยู่ที่ 10 บาท/กก.

ถั่วเหลืองฝักสด มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 6,070 บาท/ไร่/รอบการผลิต ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 62-65 วัน ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 6,530 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้ออยู่ที่ 18 บาท/กก.

ด้านนายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถทำการเกษตรผสมผสานเพื่อสร้างรายได้และให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งยังมีสินค้าทางเลือกอีกหลายชนิดที่น่าสนใจและตลาดมีความต้องการ เช่น ด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงแพะเนื้อ (ขุน) มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 85-90 บาท/กก. ระยะเวลาในการเลี้ยง 6 เดือน ซึ่งจะได้น้ำหนักที่ 30-35 กก. เกษตรกรจับขายในราคา 120-125 บาท/กก. ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 35 บาท/กก. จะส่งขายให้กับเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านประมง การเลี้ยงปลาช่อน มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 126,000 บาท/รอบการผลิต ระยะเวลาในการเลี้ยง 6-8 เดือน (ปลาช่อน 10,000 ตัว/รอบการผลิต) ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 58,000 บาท/รอบการผลิต มีการจำหน่ายทั้งปลาสดและแปรรูป อีกทั้งจังหวัดสิงห์บุรีมีชื่อเสียงในเรื่องปลาช่อนแม่ลาและเป็นสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และได้มีการจัดทำคำสั่งซื้อล่วงหน้ากับผู้รับซื้อ (กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านพัฒนาแม่ลา และตลาดชุมชน ตลาดสุวพันธ์ จังหวัดอ่างทอง) ตลาดรองรับ ได้แก่ ตลาดเทศบาลเมืองสิงห์บุรี ตลาดชัณสูตร ตลาดไม้ดัด ตลาดท่าช้าง ตลาดท่าข้าม ตลาดสดกลาง ตลาดใต้ ตลาดสดวัดกุฎีทองตลาดเกษตรกร ตลาดประชารัฐ และตลาดชุมชนอื่นๆ ทั้งนี้ ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมด้านข้อมูลพืชทางเลือกในพื้นที่ภาคกลาง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท. 7 โทร.05 640 5007-8 หรืออีเมล [email protected]

สศก. แนะพืชทางเลือกหลังนา กำไรดี เพิ่มมูลค่าพื้นที่นาข้าว จ.สิงห์บุรี สศก. แนะพืชทางเลือกหลังนา กำไรดี เพิ่มมูลค่าพื้นที่นาข้าว จ.สิงห์บุรี สศก. แนะพืชทางเลือกหลังนา กำไรดี เพิ่มมูลค่าพื้นที่นาข้าว จ.สิงห์บุรี